การคัดลายมือมีความสำคัญมากต่อการพัฒนาไปสู่ทักษะการเขียน

1 มีนาคม 2563
  •    68,941

ลายมือ คือ ตัวหนังสือเขียน ที่มีลักษณะแสดงว่า เป็นของผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะ

การคัดลายมือ นอกจากจะทำให้ผู้คัดเขียนหนังสือได้สวยงามแล้ว ยังเป็นการฝึกให้รู้จักรักษาความสะอาด และเขียนให้เป็นระเบียบเรียบร้อยอีกด้วย เราจึงควรฝึกคัดลายมือให้ถูกวิธี เพราะถ้าเขียนผิดบ่อยๆ จะทำให้เคยชิน และติดเป็นนิสัย ซึ่งจะทำให้กลายเป็ฯคนที่มีลายมือไม่สวยตลอดไป

 

การเขียนสื่อสารด้วยถ้อยคำเป็นการเขียนที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นการถ่ายทอดความรู้ความคิดของผู้เขียนให้ผู้อ่านได้รับรู้ ดังนั้นในการเขียนจึงต้องเขียนให้ถูกต้อง ชัดเจน เพื่อที่จะได้ถ่ายทอดข้อมูลได้อย่างถูกต้อง ไม่คลาดเคลื่อน อีกทั้งในการเขียนยังก่อให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจรักการเขียนภาษาไทย อันเป็นภาษาประจำชาติและเป็นการสืบสานมรดกของไทยด้วย

 

การคัดลายมือ เป็นการฝึกเขียนเบื้องต้นที่จำเป็นต้องฝึกปรือตั้งแต่เยาว์วัยให้เคยชินกับการเขียนที่สวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อบ เพราะเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การเขียนได้ถูกต้องคล่องแคล่ว รวดเร็วสวยงาม น่าอ่าน บางคนคิดว่าลายมือไม่สำคัญนัก ถ้าการเขียนนั้นมีเนื้อเรื่องดี มีการแสดงความคิดเห็น ลีลาและสำนวนโวหารดีก็เพียงพอแล้วถือเป็นความเข้าใจผิด เพราะลายมืออ่านไม่ออกไม่ชัดเจน ผู้อ่านก็อ่านไม่ออก ทำให้ไม่เข้าใจ ไม่ทราบคุณค่าของงานเขียนว่าดีอย่างไร

จุดประสงค์ของการคัดลายมือ ดังนี้

1. เพื่อฝึกการเป็นผู้มีสมาธิในการเขียนตัวอักษรไทย

2. เพื่อให้เขียนตัวอักษรไทยได้ถูกต้องตามหลักวิธีการต่าง ๆ

3. เพื่อให้รู้จักการจัดระเบียบ การเว้นวรรคและเว้นช่องไฟได้ประณีตและมีความสม่ำเสมอ ทำให้อ่านง่าย ดูสบายตา

4. เพื่อให้รู้จักสังเกตแบบอย่างตัวอักษรที่ถูกต้องสวยงามและนำไปเป็นตัวอย่างในการเขียนได้ต่อไป

5. เพื่อให้มีความภาคภูมิใจ ศรัทธาและรักการเขียนภาษาไทยอันเป็นมรดกและภาษาประจำชาติไทย

 

ภาษาไทยเป็นวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ประจำชาติที่ใช้ในการสื่อสาร เพื่อสื่อความหมายและสร้าง ความเข้าใจของคนในสังคม เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีความงดงาม และมีคุณค่าอันสูงยิ่ง เป็นสิ่งสะท้อน ที่ แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติ ภาษาไทยเป็นภาษาที่งดงามที่มีความสมบูรณ์ทั้งด้านภาษาพูด และภาษาเขียน สามารถนำเสนอได้ในรูปแบบของร้อยแก้วและร้อยกรอง ในภาษาเขียนที่นิยมใช้ส่วนใหญ่ เป็นลักษณะแบบร้อยแก้ว มีทั้งการเขียนแบบเรียงความ การเขียนบทความ ฯลฯ แต่การเขียนและการออกเสียงภาษาไทยของเยาวชนไทยในปัจจุบันได้ผิดเพี้ยนไปจากอักขรวิธีของภาษาไทย และขาดทักษะในการเขียน ภาษาไทยให้ถูกสวยงามตามแบบไทย โดยเฉพาะการเขียนลายมือที่ผิดไปจากหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ อาจารย์เปลื้อง ณ นคร แบ่งประเภทการเขียนลายมือไว้เป็น 3 แบบ คือ


1. เขียนตัวบรรจง หมายถึง เขียนตัวอักษรเต็มบรรทัด (ขนาดตัวหนังสือสูง 8 มิลลิเมตร หรือ 1 เซนติเมตร เป็นอย่างมาก) จะเริ่มฝึกตั้งแต่นักเรียนเริ่มเรียนหนังสือ ในการการเขียนตัวบรรจง ตัวอักษรต้องตรง เรียบ การวางสระ วรรณยุกต์ ช่องไฟถูกต้อง
2. เขียนหวัดแกมบรรจง หมายถึง เขียนตัวอักษรครึ่งบรรทัดเล็กน้อย เป็นการเขียนตามความถนัด ต้องการความรวดเร็ว แต่ยังต้องเขียนตัวอักษรให้เป็นตัว คือ ตัวอักษรต้องชัดเจน
3. เขียนหวัด หมายถึง การเขียนอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องใช้ความประณีตหรือความชัดเจนอะไรนัก สำหรับรูปแบบของตัวอักษรไทยที่ใช้กันในปัจจุบัน แบ่งตามลักษณะอักษรได้ 2 ประเภท คือ


1. ประเภทตัวเหลี่ยม มีเส้นตรงเป็นส่วนประกอบได้แก่ แบบอาลักษณ์ แผนกอาลักษณ์ กองประกาศิต สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีใช้เป็นแบบคัดของทางราชการ เป็นลายมือไทยที่สวยงาม ใช้เขียนเพื่อใช้ในงานเกียรติยศต่าง ๆ


2. ประเภทตัวกลมหรือตัวมน มีส่วนโค้งเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ แบบขุนสัมฤทธิ์วรรณการ กระทรวงธรรมการใช้เป็นแบบฝึกหัดลายมือของนักเรียนในสมัยก่อน และโรงพิมพ์ต่าง ๆ ใช้เป็นแบบทำสมุดคัดลายมือจำหน่าย แบบกระทรวงศึกษาธิการ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการได้ดัดแปลงจากตัวอักษรแบบ ขุนสัมฤทธิ์วรรณการ เพื่อทำเป็นแบบฝึกหัดคัดลายมือใช้ในโรงเรียนประถมศึกษาของโรงเรียน รัฐบาลทั่วประเทศตั้งแต่ พ.ศ.2520 แบบราชบัณฑิตยสถาน เป็นแบบตัวอักษรตัวกลม ซึ่งราชบัณฑิตยสถานกำหนดขึ้น (ในปี 2540) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการสร้างตัวอักษรไทยทั้งการเขียน และการพิมพ์รวมทั้งเพื่อประโยชน์ในการออกแบบ ตัวอักษรไทยมาตรฐานที่จะใช้ในกิจการคอมพิวเตอร์

การเขียนเป็นการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารของมนุษย์ในเชิงแสดงออกโดยที่ใช้ตัวอักษรแทนคำพูด เพื่อให้ผู้อื่นได้รับทราบ และเกิดการตอบสนองตามที่ผู้เขียนต้องการ การเขียนจึงเป็นทั้งศิลป์และศาสตร์อยู่ในตัวเอง การเขียนเป็นศิลปะที่ต้องประกอบด้วยความประณีต ภาษาที่งดงาม สามารถสื่อสารได้ทั้งความรู้ ความคิด อารมณ์ และความปรารถนาให้ได้ ซึ่งการใช้ภาษาให้งามนั้นนับเป็นศิลปะชั้นสูงอย่างหนึ่งของมนุษย์ ส่วนที่กล่าวว่าการเขียนเป็นศาสตร์ก็เพราะการเขียนทุกชนิดต้องประกอบด้วยความรู้ หลักการวิธีการและทฤษฎีต่าง ๆ การเขียนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในโลกของการสื่อสารปัจจุบัน ซึ่งสามารถสรุปความสำคัญของการเขียนไว้ดังนี้


- การเขียนทำให้เกิดความรู้ ความคิด เกิดความเข้าใจกัน
- การเขียนทำให้เกิดอาชีพและการพัฒนาอาชีพ
- การเขียนทำให้ทราบความต้องการของบุคคลและสังคม
- การเขียนเป็นสื่อทำให้เกิดนันทนาการ
- การเขียนทำให้สังคมสงบสุข
- การเขียนเป็นเครื่องมือแสดงภูมิปัญญาของมนุษย์
- การเขียนหากยึดเป็นอาชีพก็เป็นอาชีพที่ได้รับความยกย่องมากอย่างหนึ่งในปัจจุบัน

ฉะนั้น การเขียนเป็นวิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพอีกวิธีหนึ่งที่มนุษย์สามารถถ่ายทอดความรู้ ข้อเท็จจริง ความคิด จินตนาการ ความรู้สึกและอารมณ์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ส่วนการเขียนจะมีคุณภาพมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับ ความสามารถของผู้เขียนและการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอเป็นสำคัญ

 

ลายมือสวยมั้ยมันเกี่ยวกับวินัยยังไง และอะไรคือการควบคุมจากลายมือ

เรื่องลายมือว่าไปแล้ว ถ้าเป็นตอนเด็กๆ นี่ก็เป็นอย่างนึงที่แอบน่าเบื่อ และเป็นเรื่องของการ ‘บังคับ’ ในหลายๆ ระดับเหมือนกันเนอะ ทั้งโดนครูบังคับให้คัด และเราเองก็ต้องบังคับร่างกาย บังคับมือ ลากปากกาไปตามเส้นประ

ลายมือและการคัดลายมืออันเป็นกระบวนการฝึกหัดสำคัญลำดับต้นๆ ในโรงเรียนจึงเกี่ยวข้องกับการปลูกฝังวินัยและกระบวนการสั่งสอนทางสังคม ในทางทฤษฎีเป็นการ ‘ควบคุม’ คน ในระดับ ‘ร่างกาย’

 

ลาย (นิ้ว) มือ กับร่องรอยของตัวเรา


ลายมือเขียน มันก็ทำหน้าที่เหมือนคล้ายๆ ลายมือที่อยู่บนฝ่ามือเราเหมือนกัน เพราะลายมือมันเป็นสิ่งเฉพาะตัว แบบที่เรามองแล้วก็รู้ได้ว่าลายมือแบบนี้ของนายคนนั้นแน่ๆ เท่ดีที่ลายมือเขียนกับลายบนฝ่ามือหรือนิ้วชี้ สามารถเอามาใช้เพื่อบ่งชี้ความแตกต่างของแต่ละบุคคลได้ ซึ่งมันก็ต่างกันนิดหน่อย เพราะลายมือบนร่างกายเป็นเหมือนร่องรอยทางชีวภาพที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด แต่ลายมือเขียนนั้นเป็นร่องรอยของตัวเราที่ถูกหล่อหลอมขึ้นจากสังคม

แม้แต่ฝาแฝดที่มียีนส์เหมือนกันแต่ก็จะเขียนลายมือไม่เหมือนกัน ลายมือคนเราทำหน้าที่เหมือนลายนิ้วมือคือ เราอาจจะลอกเลียนลายมือได้ แต่เราจะไม่มีวันที่เขียนออกมาด้วยวิธีเดียวกันได้เลย ลักษณะของการเขียนที่มันเป็นลักษณะเฉพาะก็อย่างเช่น ความคมเหลี่ยมมุมหรือความกลมมนของแต่ละตัวอักษร การเว้นช่องไฟ ความโค้ง แรงหนักเบาในการกดปากกาลงในกระดาษ ขนาดโดยเฉลี่ยของตัวอักษร ความหนาบาง ซึ่งทั้งหมดนี้ แต่ละคนต่างก็มีสไตล์ในการเขียนที่เฉพาะของตัวเอง

 

ลายมือกับวิชาของวินัย


คำว่า ‘ขัดเกลา’ ที่โยงกับการฝึกคัดลายมือ ให้ภาพกระบวนการของการศึกษาได้ดีใช้ได้ นึกภาพเด็กๆ ที่เป็นธรรมชาติมาเลย การเข้าสู่โรงเรียนมันคือก้าวแรกในการเข้าสู่ระบบสังคม สิ่งสำคัญที่เด็กๆ ต้องเรียนรู้คือการที่จะรู้จักควบคุมตนเอง

การคัดลายมือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการที่เด็กจะถูกฝึกหัดให้ควบคุมตนเอง การคัดลายมือมันเป็นการเรียนรู้แบบแผนและการควบคุมร่างกาย เด็กๆ จะต้องเรียนรู้ที่จะนั่งอยู่กับที่ ต้องควบคุมจัดระเบียบร่างกายทั้งการนั่ง การจับปากกา และการลากเส้นซ้ำไปซ้ำมา จากเส้นขยุกขยุย ก็ถูกบังคับให้ลากซ้ำไปซ้ำมาจนอยู่ในรูปในรอย

มิเชล ฟูโกต์ บอกว่า บทบาทสำคัญของโรงเรียน คือการที่เด็กๆ เรียนรู้ที่จะควบคุมตนเองด้วยการรับรู้ว่ามีอำนาจที่สูงกว่าคอยสอดส่องตรวจตราอยู่ตลอดเวลา ลักษณะดังกล่าวเรียกว่า panoptic อันเป็นนวัตกรรมการออกแบบที่เน้นการถูกจับจ้อง ซึ่งฟูโกต์บอกว่าตรงนี้แหละเป็นกระบวนการควบคุมของสังคมสมัยใหม่ คือเป็นการควบคุมในระดับร่างกายของเราเอง

 

บทบาทสำคัญของโรงเรียน คือการที่เด็กๆ เรียนรู้ที่จะควบคุมตนเองด้วยการรับรู้ว่ามีอำนาจที่สูงกว่าคอยสอดส่องตรวจตราอยู่ตลอดเวลา

ดังนั้น การคัดลายมือในโรงเรียนจึงเป็นการที่เรารู้จักจะควบคุม รวมไปถึงถูกประเมินว่าเราได้ทำตามระบบและมีวินัยมากน้อยแค่ไหนโดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัว เช่นว่า ถ้าเราเชื่อฟัง เราก็จะ ‘มีวินัย’ คือรู้จักควบคุมตัวเองให้ไปฝึกการเขียน ซึ่งการเขียนนี้เราลงมือทำเองโดยที่ไม่ต้องมีใครมาคอยเฝ้าให้เราทำ การควบคุมตนเองนี้เลยขยายวง จากแค่ในห้องเรียน เราก็ต้องควบคุมตัวเองแม้แต่ในห้องนอนด้วย เราเรียนรู้ที่จะมีระเบียบและมีวินัยแม้แต่ในพื้นที่ส่วนตัวของเราเอง ผลที่เราได้รับก็คือการยอมรับ หรือรางวัลเป็นสถานะที่ระบบนั้นมอบให้ เช่น คะแนนคัดสวย หรือคำชื่นชมที่มีนัยว่าเรามีวินัยและเป็นที่พึงปรารถนาในสังคมนั้น

 

 

จากลายมือที่เราเขียนอยู่กับมือ จากมุมมองของนักวิชาการที่เฝ้าสังเกตสังคมของเรานำไปสู่การควบคุมบงการสมาชิกในระดับที่ลึกซึ้ง ลายมือก็ดูจะเป็นกระบวนการของการฝึกวินัยและให้รางวัลที่เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่งในโรงเรียน
ไม่ว่าเราจะลายมือสวยหรือไม่สวย แต่เราต่างก็อยู่ในการควบคุมหรือต้องควบคุมตนเองอยู่เสมอ

 

 

คำถามคาใจหลายคนเกี่ยวกับการคัดลายมือ คัดไปทำไม คัดเพี่ออะไร มันจะสวยขึ้นจริงหรอ นายกทำไมลายมือสวย?????(รึเปล่า?) วันนี้มีคำตอบ

">

 

ที่มาและได้รับอนุญาตจาก :
เอกรินทร์ สี่มหาศาล และคณะ. ภาษาไทย ป.3. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: อักษรเจริญทัศน์.

ที่มา http://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/knowledge/1399-00/

http://www.ilovethaiculture.com/young/ewt_news.php?nid=254&filename=index

https://thematter.co/social/politic-of-hand-writing/12840

 


  •    68,941