องค์ประกอบของโครงการ


หลักการและเหตุผล

ครอบครัวเป็นรากฐานที่สำคัญของสังคม แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรม และสภาพสังคมในปัจจุบันที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่มีเวลาให้กับลูก อีกทั้งสภาวะเศรษฐกิจการทำมาเลี้ยงชีพที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน และความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทางเทคโนโลยี ล้วนก่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการสนับสนุนให้ครอบครัวเข้มแข็งมีเสถียรภาพ ก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย สะท้อนออกมาด้วยข่าวร้ายในแต่ละวัน เช่นภาพอาชญากรรม การใช้ความรุนแรง การโกหกหลอกลวง การใช้ยาเสพติดสิ่งของมึนเมา การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ที่ไต่ระดับสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน ผู้คนเริ่มสูญเสียหลักการที่ถูกต้อง หันไปเชิดชูค่านิยมทางสังคมแทน แรงเชี่ยวกรากเชิงวัฒนธรรมซัดกระหน่ำสำนึกเชิงศีลธรรม สำนึกแห่งความผิดชอบชั่วดี เรื่องถูกกลายเป็นผิด เรื่องผิดกลายเป็นเรื่องถูกต้องชอบธรรม

ในสภาวการณ์เช่นนี้ โรงเรียนจึงเป็นสถานีเพาะบ่มและฟื้นฟูศีลธรรมได้ดีที่สุด เป็นทางออกของปัญหาทั้งในปัจจุบัน และเตรียมความพร้อมเพื่อแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ก่อนที่เยาวชนเหล่านั้นจะเติบใหญ่ ก้าวเข้าสู่สังคมของการทำงาน และร่วมกันก่อปัญหารอบใหม่จนอาจเป็นวัฏจักรที่ทำให้ปัญหาสังคมพอกพูนเพิ่มมากยิ่งขึ้น

กรอบความคิดเรื่อง 7 กิจวัตรความดี เป็นกระบวนการรณรงค์ให้เกิดการนำธรรมะไปสู่ภาคปฏิบัติ โดยเริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “กิจวัตร” เมื่อมีการฝึกฝนพัฒนาบ่อย ๆ จนเกิดเป็นนิสัยที่ดีขึ้นในแต่ละบุคคล คือ “คิดดี พูดดี ทำดี” อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ก็จะเป็นรากฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ครอบครัวอบอุ่น และเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสังคมที่สงบสุข โดยยึดหลักการที่ว่า “เปลี่ยนแปลงจากภายในสู่ภายนอก” คือไม่ว่าจะเกิดปัญหาใดขึ้น ทุกคนสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ โดยเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนตนเองก่อน ทำอย่างมีความสุข ทำด้วยความเข้าใจ เมื่อทำซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ก็จะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นได้ปรับเปลี่ยนตาม นอกจากนี้ยังเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่นำไปสู่คุณธรรมอื่น ๆ ที่สูงยิ่งขึ้นไป เช่นความเคารพ ความกตัญญู ความอดทนเสียสละ เป็นตัน

โครงการโรงเรียนรักษาศีล 5 เชิงคุณภาพ ครอบครัวอบอุ่น ด้วย 7 กิจวัตรความดี มีรูปแบบ กิจกรรมและตัวชี้วัดความสำเร็จที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติ และสนับสนุน ส่งเสริม พัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

อย่างไรก็ตาม 7 กิจวัตรความดี เป็นเพียงกรอบแนวทางปฏิบัติ ที่มีความยึดหยุ่น ผู้บริหารสถานศึกษาและคุณครูสามารถวางแผนออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนได้ และหากมีการดำเนินการและปรับปรุงอย่างต่อเนื่องจนเป็นระบบที่ยั่งยืน ก็จะเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมสังคมที่ดีให้เกิดขึ้นในสถานศึกษา ที่บ้าน และส่งผลไปถึงชุมชนในที่สุด


เป้าหมายสำคัญ

  1. นำธรรมะไปสู่ภาคปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักศีล ๕
  2. ครอบครัวอบอุ่น สังคมสงบสุข เกิดความปรองดองสมานฉันท์
  3. เด็กและเยาวชนห่างไกลยาเสพติด และอบายมุขต่าง ๆ
  4. ส่งเสริม ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
  5. พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง

7 กิจวัตรความดี

คือชุดของความดีที่นำมาเรียบเรียงให้เข้าใจง่าย สื่อสารถ่ายทอดต่อง่าย เพื่อมุ่งหวังผลในการนำธรรมะไปสู่ภาคปฏิบัติได้อย่างง่าย ๆ โดยแต่ละข้อจะเกื้อหนุนส่งเสริมซึ่งกันและกัน หากตั้งใจฝึกฝนปฏิบัติจนเป็นนิสัย ก็จะส่งผลให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มีความอบอุ่น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

7 กิจวัตรความดี ประกอบด้วย กิจวัตรประจำวัน 6 ข้อ และกิจวัตรประจำสัปดาห์ 1 ข้อ ดังนี้

  1. รักษาศีล ๕
  2. สวดมนต์ นั่งสมาธิ
  3. จัดเก็บห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัวให้สะอาด เป็นระเบียบ
  4. คิดดี...ด้วยการจับดีคนรอบข้าง
  5. พูดดี...ด้วยการพูดจาไพเราะ
  6. ทำดี...ด้วยการทำบุญหรือบำเพ็ญประโยชน์อย่างน้อย 1 เรื่อง
  7. ร่วมกิจกรรมชั่วโมงสุขจริงหนอ ซึ่งเป็นกิจวัตรประจำสัปดาห์ อย่างน้อย 12 ครั้ง

ชั่วโมงสุขจริงหนอ คือ ช่วงเวลาที่สมาชิกมาทำดีร่วมกันหรือแบ่งปันประสบการณ์การทำความดี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเอาพลังหมู่มาเสริมพลังเดี่ยวในการทำความดี รูปแบบกิจกรรมไม่ตายตัวสามารถ ออกแบบ ปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม แต่มีกิจกรรมหลักที่ควรคงไว้คือ

  • อาราธนาศีล 5 สวดมนต์นั่งสมาธิ ร่วมกัน
  • สมาชิกบอกเล่าเรื่องราวหรือประสบการณ์ดี ๆ ที่เกิดจากกิจวัตรความดีประจำวันทั้ง 6 ข้อ
  • ชมสื่อหรือฟังบรรยายที่ตอกย้ำความสำคัญหรือสร้างแรงบันดาลใจให้ทำ 7 กิจวัตรความดีอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งกิจกรรมชั่วโมงสุขจริงหนอนี้ จะช่วยเสริมสร้างกำลังใจในการทำความดีของสมาชิกให้มีความมั่นคง และ เข้มแข็งยิ่งขึ้นไป อันเป็นการนำหลักธรรมมงคลชีวิต 38 ประการ หมวดแรก ว่าด้วยการฝึกตนให้เป็นคนดีมาสู่ภาคปฏิบัติคือ
1) การไม่คบคนพาล
2) การคบบัณฑิต
3) การบูชาบุคคลที่ควรบูชา
เพราะชั่วโมงนี้สมาชิกจะสนทนากันแต่เรื่องการแก้ไขตนเอง ความรับผิดชอบ การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ จนนำความสุขมาสู่ทั้งตนเองและคนรอบข้าง เสมือนหนึ่งทุกคนฝึกฝนขัดเกลานำเชื้อพาลออกจากตัว นำความเป็นบัณฑิตในตนมาแลกเปลี่ยนกัน พร้อมกับการเรียนรู้ว่าบุคคลใดควรยกย่องบูชาคือเลือกไอดอลหรือต้นแบบเป็น อันได้แก่ พระสัมมาพระสัมพุทธเจ้า พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี รวมบุคคลที่ทำความดีมีคุณูปการต่อประเทศชาติหรือต่อโลก แม้กระทั่งเพื่อนร่วมห้องเรียนที่ตั้งใจทำความดี เป็นต้น


ประโยชน์ต่อผู้บริหาร ครู นักเรียน

โครงการโรงเรียนรักษาศีล 5 เชิงคุณภาพ ครอบครัวอบอุ่น ด้วย 7 กิจวัตรความดี หรือเรียก ย่อ ๆ ว่าโครงการโรงเรียนรักษาศีล 5 เชิงคุณภาพ นี้ คือโครงการที่มีจุดมุ่งหมายจะใช้กรอบแนวคิด เรื่อง 7 กิจวัตรความดีของชมรมบ้านแสงสว่าง ครอบครัวอบอุ่น แห่งประเทศไทย ผสานกับเทคโนโลยีการสื่อสาร อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย เพื่อสร้างระบบงานขับเคลื่อนศีลธรรมที่เข้มแข็งให้เกิดขึ้นในสถานศึกษาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนจึงก่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม ดังนี้

  1. โปรแกรมที่ให้ทั้งความรู้ เรื่องหลักสูตร กระบวนการ และระบบบันทึกผลงาน การประเมินผลงานบนเว็บไซต์ sila5.com ในส่วนของเมนูโรงเรียนรักษาศีล 5 เชิงคุณภาพ
  2. การพัฒนาสื่อการเรียนรู้ บนช่องทางยูทูป (Youtube Channel) sila5.com
  3. เฟซบุ๊ค Facebook โครงการโรงเรียนรักษาศีล ๕ เชิงคุณภาพ

โดยมีรูปแบบ กิจกรรมและตัวชี้วัดความสำเร็จที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติ และสนับสนุน ส่งเสริม พัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้เกิดการดำเนินงานอย่างเป็นระบบด้วยวงจรบริหารงานคุณภาพ (PDCA) ที่ชัดเจนทั้งการบริหารจัดการโครงการ การจัดการเรียนการสอน การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน อันจะนำมาซึ่งความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามเป้าหมายที่สถานศึกษากำหนดไว้ โดยสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯจะได้รับประโยชน์ โดยสรุปดังนี้

ประโยชน์ในส่วนของสถานศึกษาและผู้บริหาร

  1. ได้รับการประกาศเป็นสถานศึกษาต้นแบบรักษาศีล 5 เชิงคุณภาพ บนเว็บไซต์ sila5.com หากดำเนินการอย่างต่อเนื่องและพัฒนาเป็นลำดับตามเกณฑ์ที่ระบบวางไว้ พร้อมทั้งโล่รางวัลและ ใบประกาศนียบัตรเป็นสถานศึกษาต้นแบบรักษาศีล 5
  2. ได้รับประกาศเกียรติคุณ ในแต่ภาคการศึกษา หากดำเนินงานจนผ่านเกณฑ์ 5 ดาวทองในแต่ละ ภาคการศึกษา
  3. มีการบันทึกผลงานของโรงเรียนอย่างเป็นระบบ บนเว็บไซต์ sila5.com ซึ่งสามารถนำกลับไปใช้อ้างอิงเพื่อใช้ประกอบเกณฑ์การพิจารณาของโครงการเกี่ยวกับคุณธรรมอื่น ๆ ที่ทางสถานศึกษาได้เข้าร่วม หรืองานตามนโยบายจากหน่วยงานต้นสังกัด
  4. โอกาสในการได้รับทุนในการพัฒนาสถานศึกษา
  5. ได้รับการส่งเสริม สนับสนุน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างสถานศึกษากับหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการในการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาไปพร้อมกัน
  6. สถานศึกษาสามารถนำผลงานที่ได้ดำเนินการมาเป็นแนวทางในการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการศึกษา

ประโยชน์ในส่วนของครูผู้ประสานงานหรือขับเคลื่อนงานและครูในสถานศึกษา

  1. สามารถทำเป็นผลงานวิจัย โดยใช้สื่อ นวัตกรรม 7 กิจวัตรความดีเป็นเครื่องมือในการทำวิจัย
  2. ได้รับใบประกาศเกียรติคุณ ในแต่ละภาคการศึกษา หากดำเนินงานจนผ่านเกณฑ์ 5 ดาวทอง ในแต่ละภาคการศึกษา
  3. มีระบบงาน และเครื่องมือ สื่อ อุปกรณ์ที่ช่วยในการดูแลพัฒนาผู้เรียน เมื่อผู้เรียนมีพฤติกรรมที่ดี จะทำให้การดูแลง่าย ส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ และพัฒนาความสามารถทางวิชาการ ได้ง่ายขึ้น
  4. ทำให้ครูเกิดความรักในวิชาชีพของตนเอง มีความปลื้มปิติและภาคภูมิใจที่ได้ ส่งเสริมและพัฒนาให้ลูกศิษย์เป็นคนเก่งและดี
  5. สามารถนำผลงานที่ได้ดำเนินการโครงการ มาเป็นแนวทางในพัฒนาตนเองเพื่อรองรับ การประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครู ในสายผู้สอน
  6. ครูที่ต้องการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการที่ได้จาก นวัตกรรม 7 กิจวัตรความดี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำผลงานเพื่อเลื่อนวิทยฐานะก็สามารถนำผลงานมาเผยแพร่ผ่านทาง เว็บไซต์ sila5.com หรือโซเชียลมีเดียของทางโครงการได้

ประโยชน์ในส่วนของนักเรียน

  1. ได้รับสื่อสมุดบันทึกความดีเตือนสติและบันทึกผลงานความดีและโปสเตอร์ไปติดที่บ้าน เพื่อใช้พัฒนาตนเอง
  2. ได้รับเกียรติบัตร หากผ่านเกณฑ์ที่ระบบวางไว้
  3. โอกาสในการรับทุนการศึกษา
  4. มีโอกาสพัฒนาตนเอง ในด้านการใช้ทักษะด้านการสื่อสาร ทักษะชีวิต การใช้สื่อเทคโนโลยี การสร้างภาวะความเป็นผู้นำ และพัฒนาทักษะกระบวนการคิด
  5. เป็นพื้นที่แสดงผลงานการเปลี่ยนแปลงของผู้เรียนที่เข้าร่วมโครงการแล้วเกิดผลลัพธ์ที่ดีกับตัวเอง

โดยสรุปแล้วสถานศึกษา ผู้บริหารคณะครู นักเรียนหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาคุณภาพของเด็กและเยาวชนจะได้รับผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ภาคีเครือข่ายโรงเรียนรักษาศีล 5 เชิงคุณภาพ พร้อมเป็นพันธมิตรเพื่อให้กำลังใจและร่วมสนับสนุน

“เพราะเรามีความเชื่อที่ว่า สถานศึกษาเป็นสถานที่หล่อหลอม บ่มเพาะศีลธรรมให้เกิดขึ้นในตัวเยาวชนได้อย่างดีที่สุด”


ปัจจัยความสำเร็จ

1.การตรวจสมุดบันทึกความดีและการเขียนให้คำแนะนำต่าง ๆ ของคุณครู ทำไมการตรวจสมุดบันทึกความดีและการเขียนให้คำแนะนำของครูจึงมีความสำคัญมากเป็นลำดับแรก

  • เพราะถ้านักเรียนรู้ว่าครูใส่ใจให้ความสำคัญจริง ก็จะต้องหาเรื่องมาเขียนบันทึก เมื่อต้องการเรื่องที่จะมาเขียนบันทึก ก็ต้องลงมือทำความดี สอดคล้องกับโครงการซึ่งไม่ได้ต้องการเนื้อหาที่เกิดจากการคิดคำนวณจินตนาการ หรือการค้นหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตนำมาเขียนตอบ แต่ต้องการเนื้อเรื่องที่มาจากการลงมือปฏิบัติจริง
  • เมื่อนักเรียนถูกกระตุ้นให้ต้องใส่ใจกับการเขียนบันทึกความดี ก็จะทำให้ออกห่างจากเครื่องมือสื่อสาร หรือโซเชียลมีเดีย ช่วงเวลาหนึ่ง ทำให้มีโอกาสกลับมาใช้สติอยู่กับตนเอง ทบทวนการกระทำและการสร้างคุณค่าของตนเอง
  • การเขียนทำให้เกิดความคิด วิเคราะห์จับประเด็น การจัดลำดับความคิด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 3R8C
  • เมื่อครูตรวจและให้คำแนะนำกระตุ้นให้ฝึกคัดลายมือ ก็จะเป็นการฝึกนิสัยของความประณีต
  • การตรวจและการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย จะทำให้เกิดทักษะการใช้ภาษาไทยที่เป็นภาษาเขียนได้ถูกต้อง และเป็นการฝึกนิสัยความรอบคอบ
  • เป็นโอกาสให้ครูได้เรียนรู้ตัวตนของนักเรียนจากงานเขียนของเขา ทำให้เข้าใจปัญหาเชิงพฤติกรรมได้ง่ายขึ้น การเขียนให้คำแนะนำต่าง ๆ ของครูด้วยหมึกสีแดง จะทำให้เด็กนักเรียนสนใจ เกิดการพัฒนาปรับปรุงแก้ไขตนเอง

เพราะตรวจ จึงต้องเขียน เพราะเขียน จึงต้องคิด เพราะคิด จึงต้องทำ
เพราะแนะนำ จึงได้อ่าน เพราะได้อ่าน จึงปรับปรุง เพราะปรับปรุง จึงภูมิใจ
เพราะภูมิใจ(ในตน) จึงเคารพ(ผู้อื่น) เพราะเคารพ จึงได้ดี

การใช้เวลาเพียงสัปดาห์ละเล็กละน้อย เพื่อตรวจสมุดบันทึกความดี จะสร้างเรื่องที่ยิ่งใหญ่ให้กับชีวิตของใครหลายคน
หมายเหตุ คำแนะนำอ่านบทความเชิงคุณภาพ ถอดรหัสความสำเร็จการใช้สมุดบันทึกความดีสร้างคน...คลิกอ่านรายละเอียด

2.การจัดกิจกรรมชั่วโมงสุขจริงหนอให้มีประสิทธิภาพ

หลักในการดำเนินกิจกรรมให้ประสบผลสำเร็จคือเน้นการมีส่วนร่วมจากนักเรียน สร้างสรรค์บรรยากาศให้เปี่ยมด้วยความสุข สนุก อบอุ่น ประทับใจ และเกิดการนำธรรมะไปสู่ภาคปฏิบัติอย่างแท้จริง หนึ่งในเทคนิคที่ดีคือการใช้คำถาม การใช้คำถามดีจะกระตุ้นให้เกิดความมีส่วนร่วม เมื่อนักเรียนตอบคำถามแล้ว สิ่งที่ครูควรทำคือการต่อยอด ให้คำแนะนำเพิ่มเติม สิ่งที่ไม่ควรทำคือการชี้ขาดว่าคำตอบนั้นผิด ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่ชอบใจ และไม่อยากมีส่วนร่วมในครั้งต่อ ๆ ไป

ชั่วโมงสุขจริงหนอ ไม่ใช่ชั่วโมงสอนหรือบรรยาย แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้ผู้เรียนทุกคนยกระดับตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมที่ดีให้แก่กันและกัน มีกำลังใจอยากทำความดีเพิ่ม
หมายเหตุ แนะนำให้อ่านเพิ่มเติมบทความ 6 คำถามสร้างทักษะชีวิต

3.การดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทำซ้ำแต่มีรูปแบบกิจกรรมที่เข้มข้นขึ้น

การปรับเปลี่ยนนิสัยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเรื่องของความเคยชิน การจะเพาะบ่มนิสัยใหม่ นิสัยที่ดีจำต้องฝืน ต้องฝึกฝน ต้องใช้เวลา ต้องตอกย้ำซ้ำเดิมด้วยกิจกรรมที่เข้มขึ้นในแต่ละภาคเรียน ด้วยเป้าหมายที่สูงส่งขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เชิงปริมาณคือให้มีจำนวนนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการมากขึ้น จาก 1 ห้อง เป็น 1 ชั้นเรียน / จาก 1 ชั้นเรียน เป็น 2 ชั้นเรียน / จาก 2 ชั้นเรียน เป็นทั้งโรงเรียน ในเชิงคุณภาพ นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการรอบที่ 2 ขึ้นไป ควรมีกิจกรรมที่เข้มข้นขึ้นเช่น โครงงานที่ทำให้เกิดการทำงานเป็นทีมโดยใช้ 7 กิจวัตรความดีเป็นหลักในการพัฒนาตนเอง จนเกิดภาวะความเป็นผู้นำ คือเป็นผู้นำการทำความดี เป็นผู้นำด้านศีลธรรม


ขั้นตอนดำเนินการ & การประเมินผล

คำอธิบาย

  • โรงเรียนสมัครเข้าร่วมโครงการ สมัครสำเร็จ จะได้รับรหัสศูนย์ของโรงเรียน (ทุกครั้งในการสมัครจะได้รับรหัสศูนย์ใหม่) ส่งไปที่ E-mail ที่แจ้งไว้ ขั้นตอนต่อไปให้แจ้งขอรับชุดสื่อความดี
  • ติดตาม ศึกษาข้อมูล ทำกิจกรรมและส่งผลงานตามกำหนดเวลาในเมนูของโครงการ (ดาวน์โหลดสื่อ เอกสาร สนใจได้)
  • สัปดาห์แรก เปิดโครงการ นักเรียนทุกคนในโครงการได้รับ “สมุดบันทึกความดี” 1 เล่ม และ “โปสเตอร์ 7กิจวัตรความดี” 1 แผ่น
  • คำชี้แจงการใช้
    • “สมุดบันทึกความดี” ใช้บันทึกกิจวัตรความดีที่ทำตามความเป็นจริง และเขียนบันทึกเรื่องราวที่ประทับใจในแต่ละหัวข้อ
    • การแบ่งกลุ่มนักเรียน ตั้งหัวหน้ากลุ่ม ช่วยกันดูแลให้กำลังใจซึ่งกันและกัน พี่ดูแลน้อง (เชื่อมโยงบูรณาการกับกิจกรรมลูกเสือ)
    • “โปสเตอร์ 7 กิจวัตรความดี” ให้นำไปติดไว้ที่เด่น ๆ ของบ้าน เพื่อบอกกล่าวให้ผู้ปกครองรับทราบการเข้าร่วมกิจกรรมกับทางโรงเรียน
  • ผู้บริหาร คุณครู ชมเชียร์ให้กำลังใจนักเรียนทำ 7 กิจวัตรความดี สม่ำเสมอทุกวัน และจัดกิจกรรมตาม แผนการสอนชั่วโมงสุขจริงหนอ (12-14 สัปดาห์) สังเกตพฤติกรรมนักเรียน / รวบรวมข้อมูล ภาพกิจกรรมต่าง ๆ และเอกสาร ตามหัวข้อเมนูติดตามและส่งผลงานในเว็บไซต์ศีล 5 ในช่วงเวลาที่กำหนด เมื่อได้สัญลักษณ์ก้าวหน้า 5 ดาวทอง แล้ว ทางโรงเรียนสามารถดาวน์โหลดไฟล์ “รายงานดำเนินกิจกรรม” เพื่อนำไปใช้ สรุปแผนงาน / โครงการ และ/หรือเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานย่อมเกิดประโยชน์อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

เมื่อสิ้นสุดโครงการแต่ละภาคเรียน

  • ผู้บริหาร ครู และนักเรียน จะได้รับใบประกาศนียบัตร เป็นสมาชิกผู้ปฏิบัติ 7 กิจวัตรความดี ใน “โครงการโรงเรียนรักษาศีล 5 ครอบครัวอบอุ่น”
  • โรงเรียน จะได้รับเกียรติบัตร เพื่อแสดงว่า ได้เข้าร่วมกระบวนการพัฒนาคุณภาพนักเรียนด้วย 7 กิจวัตรความดี (เชิงคุณภาพ 5 ดาวทอง)

เส้นทางสู่โรงเรียนต้นแบบ


เรื่องราวเปลี่ยนแปลงชีวิต หลังจากทำ 7 กิจวัตรความดี

สามารถติดตามอ่านเรื่องราวเปลี่ยนแปลงชีวิต หลังจากทำ 7 กิจวัตรความดีได้ที่นี่ (คลิกที่นี่)


ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม

เว็บไซต์ชมรมบ้านแสงสว่าง ครอบครัวอบอุ่น https://www.lighthomeclub.com