วันนี้เราจะมาสัมภาษณ์บุคคลท่านหนึ่ง ที่มีจุดเปลี่ยนจนได้ผลลัพธ์ ทั้งการศึกษา อาชีพ และการใช้ชีวิต กับ ผอ.ออย - ภาณุมาศ ธรรมถาวรสกุล ผู้บริหารรุ่นใหม่ไฟแรง โดยดีกรีท่านไม่ธรรมดาเลยนะครับ
เห็นหน้าเด็ก ๆ แบบนี้ ได้รับคัดเลือกเป็น ประธานครูดีไม่มีอบายมุขภาคอีสานมาแล้ว ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการได้คัดเลือกผลงานครูมาจาก 400,000 คนทั่วประเทศ คัดเลือกจนเหลือ 400 คนเพื่อมอบโล่รางวัล และคัดเลือกให้เหลืออีก 4 คนเป็นตัวแทนของแต่ละภาค โดย ผอ.ออย ติด 1 ใน 4 ของครูทั้งประเทศ
นอกจากได้ตำแหน่งเป็นตัวแทนครูภาคอีสานของประเทศแล้ว ผลงานของ ผอ. ก็ไม่ธรรมดา ด้วยแนวคิด การใช้ความรัก ความเมตตา และความเชื่อว่าศีลธรรมจะอยู่ได้ทุกที่ จึงเป็นที่มาของกิจกรรม ศีลธรรมบนฝาเบียร์ ซึ่งมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก
เส้นทางชีวิตของ ผอ.ออย ต้องบอกว่าไม่ธรรมดาเลยครับ มีจุดเปลี่ยนมากมาย จุดเปลี่ยนเหล่านั้นส่งผลอย่างไร เรามาติดตามพร้อมกันเลยนะครับ
จุดเปลี่ยนที่ 1 เลือกการศึกษา
ผอ.ออย เกิดในครอบครัวข้าราชการต่างจังหวัด คุณพ่อรับราชการ คุณแม่รับราชการครู คุณพ่อทำงานต่างจังหวัด จะมีช่วงเสาร์-อาทิตย์ถึงจะกลับมาอยู่กับครอบครัว
ในวัยเด็กก็เหมือนเด็กทั่ว ๆ ไป การเข้าวัดทำบุญก็ต้องขึ้นอยู่กับคุณแม่ ถ้าไม่ชวนก็ไม่ไป อารมณ์เหมือนวัยรุ่น ถ้าโดนบังคับก็ไม่พอใจอย่างมาก ถึงขั้น หัวร้อนกันเลยทีเดียว “ก็เราไม่เต็มใจ ไม่รู้เหตุผลว่า ไปทำไม” ผอ.ออย กล่าว
"จุดเปลี่ยนตอนอายุ 15 ปี คุณพ่อได้เข้าบวชที่วัด ทางคุณแม่ก็เริ่มศึกษาธรรมะอย่างแท้จริง ตัวของ ด.ญ. ออย ในวันนั้น ต้องตามแม่ไปที่วัด เพื่อจะได้พบพ่อที่บวชอยู่ ได้รักษาศีล 8 ทานข้าวที่วัด ทานข้าว 2 มื้อ เพื่อให้ได้อยู่กับครอบครัว
ลองจินตนาการดูว่าเด็กวัย 15 ปีที่ต้องอยู่กับข้อวัตรปฏิบัติ อาจจะมีอึดอัดในการเป็นเด็กวัดครั้งแรก แต่เรากลับไม่รู้สึกอึดอัดอะไร เพราะเราได้ฟังธรรมะที่พระอาจารย์ได้เทศน์สอน กับญาติโยมที่มาในช่วงเย็น การได้ฟังธรรมะ สวดมนต์นั่งสมาธิในช่วงเวลานั้น ทำให้เราเข้าใจธรรมะได้พอสมควรทีเดียว
พอเรากลับมาเรียนหนังสือช่วงวัยรุ่น ม. ปลาย ทำให้เรารู้ว่าเรามีหลักในใจ รู้สิ่งที่ควรทำและสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะเหตุผลอะไร
มันเหมือนกับเราได้ปลูกฝังเมล็ดพันธุ์ขึ้นในใจ ทำให้เราอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้อง และดีงาม สิ่งแวดล้อมภายนอกที่มากระทบในช่วงวัยรุ่น ทำให้รู้สึกทั้งอยากลอง อยากเที่ยว แต่พอเราได้มองย้อนกลับไปถึงคนที่รักเราและเราก็รักตัวเราเองด้วย ทำให้เราไม่ออกนอกเส้นทาง"
จุดเปลี่ยน การเลือกอาชีพ
ผลการเรียนในช่วงมัธยมศึกษาตอนปลายได้ผลติด 1 ใน 10 ของห้องเรียน ทำให้มีทางเลือกศึกษาต่อทางอาชีพอย่างมากมาย ในช่วงเวลานั้น ท็อปฮิต คือ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ส่วนอาชีพครูไม่มีใครสนใจเท่าไหร่ คนเก่งทุกคนต้องเป็นหมอ แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ คุณแม่ แม่เปรียบเสมือนผู้ให้กำเนิดในชีวิตจริงและให้กำเนิดความเป็นครูของเราด้วย
แม่มีอาชีพเป็นครู แม่เป็นครูตั้งแต่อายุ 18 ปี และตลอดระยะเวลาที่แม่เป็นครู แม่จะทำงานเพื่อเด็กจนจะเกษียณในเดือนกันยายนปี 2564 แต่ตัวแม่เองก็ทำงานอย่างแข็งขันมาก ๆ เราก็เลยได้แม่เป็นแบบอย่างการเป็นครูผู้สร้าง
ในวันนั้นแม่บอกเราว่าในอนาคตอาชีพที่สร้างคนได้ มันคืออาชีพครู จริง ๆ แล้วมันก็เหมือนเป็นเชิงบังคับ แต่แม่ก็บอกเหตุผลด้วย
การที่เรารักครอบครัว รักแม่ และเชื่อว่าแม่ต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเรา จึงตัดสินใจเข้าเรียนครู
เราก็สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ด้วยการรับทุนของรัฐบาลในโครงการส่งเสริมการผลิตครูผู้มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) เงื่อนไขก็คือเมื่อเรียนจบแล้วต้องกลับมาเป็นครูที่บ้านเกิด
เราจบทางด้านชีววิทยาได้บรรจุที่โรงเรียนสว่างแดนดิน ในช่วงเวลานั้นเราก็สนุกกับการเรียนรู้ มีเวทีให้เราได้แสดงความรู้ความสามารถมากขึ้น ในหลาย ๆ โครงการที่เราได้ทำ ผู้ใหญ่ก็ให้เราได้เป็นวิทยากรระดับภาคและระดับประเทศ จนทำให้กระทรวงศึกษาธิการทำหนังสือเชิญให้ไปทำงานที่กระทรวงฯ เราก็เลือกไปช่วยงานที่กระทรวงฯ
ในช่วงนั้นเราก็ได้พัฒนาตัวเองอย่างเต็มประสิทธิภาพ ได้เดินทางไปศึกษางาน ประสานงานที่ต่างประเทศเป็นประจำทุกเดือน เราสนุกกับการทำงานอย่างมาก แต่แล้วก็มาถึงจุดเปลี่ยน
จุดเปลี่ยน การเลือกชีวิต
ช่วงที่เราทำงานที่กระทรวงฯ เรากับสามีอยู่กรุงเทพฯ ให้ลูกชายอยู่กับคุณตาคุณยายที่บ้านต่างจังหวัด วันหนึ่งเมื่อเรากลับไปเยี่ยมลูกที่ต่างจังหวัด พอเราจะกลับ ลูกชายก็วิ่งตามรถเรา และยืนมองรถเราจนสุดสายตา
วันหนึ่งเมื่อเรากลับไปเยี่ยมลูกที่ต่างจังหวัด
พอเราจะกลับ ลูกชายก็วิ่งตามรถเรา
และยืนมองรถเราจนสุดสายตา
พอเรามองกลับไป ทำให้เราฉุกคิดขึ้นมา “...ฮืม” มันทำให้เราตัดสินใจอีกครั้ง ระหว่างงานที่เรารัก กับคนที่เรารัก สุดท้ายคำตอบมันชัดเจนอยู่แล้ว “ลูกที่เรารัก” จึงตัดสินใจกลับบ้าน
พอเราได้เลือกกลับมาอยู่กับลูกชายที่ต่างจังหวัด โดยปกติเราจะเป็นคนที่วางเป้าหมายของเราเป็นประจำ โดยเป้าหมายในครั้งนี้ คือ การเป็นผู้อำนวยการ โดยเป้าหมายนี้คุณแม่ก็เป็นแรงบันดาลใจ
แม่บอกกับเราว่า “ถ้าลูกรู้ว่าเรามีความรู้ความสามารถ ลูกจะอยู่ในกรอบเล็ก ๆ ของลูกก็ได้ แต่ถ้าลูกจะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ขึ้น และมีประโยชน์กับคนจำนวนมากขึ้น ลูกลองเป็นผู้อำนวยการดู”
สิ่งนี้ทำให้เรารู้สึกเห็นด้วยกับแม่ จึงเตรียมตัวสอบเป็นผู้อำนวยการ และในช่วง ปี 2561 เดือนตุลาคม การตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตก็มาถึง
จุดเปลี่ยน การเลือกธรรมะ เพื่อการเจริญเติบโตด้านจิตใจ
การที่เราได้ศึกษาหาความรู้ธรรมะมาตั้งแต่สมัยเป็นวัยรุ่น และจากหนังสือการปฏิบัติธรรม ทำให้พอมีความรู้ซึ้งถึงธรรมะในระดับหนึ่ง ซึ่งมาช่วยในการทำงานของเราเป็นอย่างมาก ธรรมะบทเดียวกันที่เราได้ศึกษาตอนวัยรุ่นกับปัจจุบันมันก็ไม่เหมือนกัน ทั้งมุมมองความคิด ประสบการณ์ ความเข้าใจ มันแตกต่างกันออกไป ทำให้เราเข้าใจตัวเองมากยิ่งขึ้น
พอเราเข้าใจตัวเองแล้ว การทำความเข้าใจผู้อื่นมันก็ไม่ยาก จิตวิญญาณภายใน การมีสติ ทำให้เราเข้าใจตนเองมากขึ้น เราเข้าใจคนอื่นมากขึ้น เข้าใจคำว่า “ใจเขาใจเรา” ทำให้เรารู้ว่าการเดินทางข้างใน มันสำคัญมากที่จะต้องเรียนรู้และเติบโตสัมพันธ์กับการพัฒนาภายนอก
เราต้องการเห็นถึงความงดงามภายใน เราจึงตัดสินใจที่จะ “บวชชี” โกนศีรษะ 1 เดือน ทำให้เรารับประสบการณ์ที่ดี จากแม่ชีศันสนีย์ ที่เสถียรธรรมสถาน ซึ่งเป็นวันครบรอบ วันคล้ายวันสวรรคตรัชกาลที่ 9 โดยการบวชในครั้งนั้นมีเหตุผล คือ 1. การเรียนรู้ ยกระดับ เติบโตทางด้านจิตใจ 2. เราอยากตอบแทนพระคุณของคุณพ่อคุณแม่ 3. การอุทิศบุญกุศลให้กับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่เรารักและระลึกถึง
เมื่อเราบวชครบ 1 เดือน เราก็ทำตามเป้าหมายที่จะเป็นผู้อำนวยการ เราก็ตั้งใจสอบจนสำเร็จ ในวันที่ 1 เดือนมีนาคม ปี 2562 เราก็เปลี่ยนตำแหน่งจากครูผู้สอนมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน เราตัดสินใจเลือกโรงเรียนขนาดเล็ก อยู่ในอำเภอบ้านเกิด ไม่ไกลจากบ้าน เราตั้งใจจะพัฒนาโรงเรียนนี้ให้เขาอยู่ได้ ให้เป็นโรงเรียนที่ไม่ถูกยุบ ในโรงเรียนที่เราเลือกไปทำงาน ชุมชนรอบข้างก็มีชื่อเสียงโด่งดัง ทั้งเรื่องการทะเลาะวิวาท การดื่มสุราต่างน้ำ การลักขโมย และครูเจ้าถิ่น
จุดเปลี่ยน นำศีลธรรม พัฒนาองค์กร
พอเรามารับตำแหน่ง ผอ. ที่โรงเรียนนี้ เปลี่ยนสถานะจากครูมาเป็นผู้อำนวยการ ก็มีไฟในการทำงานขึ้นมา จากการทำงานของครู ที่ติดขัดเรื่องนโยบาย การทำงานต่าง ๆ ที่ติดนั้น โน้น นี้ พอเป็น ผอ.ก็อยากทำอะไรต่าง ๆ มากมาย
เราสามารถเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนไปตามทิศทางที่เราต้องการ อีกทั้งเรามองเห็นความสำคัญของงานคุณธรรม จริยธรรม ผลักดันให้เป็นจุดเน้นของโรงเรียน เราจะนำศีลธรรมมาขับเคลื่อนให้องค์กรของเราเจริญเติบโตงอกงามขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตัวเราเอง คุณครู นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน
การพัฒนาคุณธรรมจึงเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนของโรงเรียนบ้านหวาย
เมื่อไรที่โรงเรียนมีคุณธรรม มีศีลธรรม
มีความจริงใจ มีความดีงาม และมีความสุขในองค์กร
ผลดีด้านอื่น ๆ ก็จะตามมาเอง
เมื่อมีแนวคิดที่ชัดเจนเราก็หาโครงการที่จะช่วยผลักดันให้การพัฒนาคุณธรรม ศีลธรรมในโรงเรียนมีมากขึ้น จึงได้นำโครงการ “โรงเรียนรักษาศีล 5 เชิงคุณภาพครอบครัวอบอุ่น” มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อปรับพฤติกรรม ปรับวิธีการดำเนินงาน โดยใช้เครื่องมือสมุดบันทึกความดี มีสื่อที่อยู่ในระบบ มีโค้ชที่มอบความรู้ ให้การสนับสนุน การขับเคลื่อนโรงเรียนขนาดเล็กมีความคล่องตัว และพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว
บุคลากรที่สำคัญที่สุดในโรงเรียนก็คือ ครู คนที่จะเปลี่ยนเด็กได้ หรือเปลี่ยนการศึกษาได้ และคนที่ไกล้ชิดนักเรียนมากที่สุดก็คือ ครู เราต้องพัฒนาครูให้มี Mindset ที่มีภาพเดียวกันทั้งโรงเรียน เราจึงจัดทำค่ายพัฒนาครูในโรงเรียนก่อน และชวนโรงเรียนร่วมพัฒนามาพัฒนาบุคลากรร่วมกัน
ตอนแรกๆ วัตถุประสงค์ให้เขาได้รัก และภาคภูมิใจในองค์กร รักและภูมิใจในตัวของเขาเอง ให้ครูกลับมาเข้าใจตัวเอง และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในค่าย 2 คืน 3 วัน ทำให้ครู ผู้บริหาร บุคลากรในโรงเรียนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มากขึ้น เราก็จัดอบรมครูอย่างต่อเนื่อง เพราะ “ครูคือ คนที่มีหัวใจสำคัญ” ในการเปลี่ยนแปลงการศึกษา เพราะครูคือคนที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็ก
ดังนั้นครูคือ Keyman ที่สำคัญมาก เราในฐานะผู้อำนวยการ เราต้องเป็น Facilitator (ผู้อำนวยความสะดวก) ให้กับคุณครู ครูจะเติบโตอย่างไร ให้ครูรู้ เข้าใจตัวเอง และเข้าใจในตัวเด็กด้วย โดยที่ไม่ยัดเยียดความที่ไม่ใช่ตัวเด็กให้กับเด็กด้วยกรอบอะไรหลายๆ อย่าง ทำให้เราละเลยความเป็นมนุษย์
คนหนึ่งคนเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ฐานะ พันธุกรรม สารอาหาร และการเจริญเติบโต ถ้าเราคาดหวังให้เด็กเรียนในด้านวิชาการมากจนเกินไป อาจทำให้เด็กเกิดอาการเบื่อเรื่องการเรียนการศึกษาไปเลยก็ได้
ถ้าครูเข้าใจความเฉพาะด้านของเด็กแต่ละคน คนนี้เก่งด้านนี้อีกคนเก่งอีกด้าน เราจะทำอย่างไรให้ครูหลุดออกจากกรอบเดิม ๆ ที่ได้รับการปลูกฝังมา ครูก็ต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนเรียนรู้ที่จะยกระดับจิตวิญญาณความเป็นครูไปพร้อม ๆ กัน
ในการลงโทษเด็ก เมื่อก่อนครูส่วนใหญ่เป็นครูผู้ชาย ความรักของครูผู้ชายก็จะแสดงออกมาจากความเข้มแข็งที่ต้องเข้าจัดการ พอเราเข้ามารับตำแหน่ง การที่เราเป็นผู้หญิงเป็นแม่ เราจะให้ความอ่อนโยน ความรัก ความเมตตา ครูก็เรียนรู้ไปกับเราด้วยว่า เราไม่มีนโยบายใช้ความรุนแรงลงโทษเด็กในโรงเรียน ทั้งการตีหรือด่าทอ
เคสไหนที่เหลือขอต่อการจัดการของครู เขาก็ส่งมาให้ ผอ. จัดการ “ตัวอย่างของการลงมือกระทำ มีค่ามากกว่าคำสอน” เราก็ทำให้ครูเห็น เราจัดการเด็กในภาวะที่เราเป็นแม่ เรามีลูก รักนักเรียนเหมือนลูกเรา โดยคิดว่าถ้าเราเป็นแม่ของเด็กคนนี้เราอยากให้ลูกเราถูกตีหรือเปล่า? เราก็ไม่อยาก เราอยากให้ลูกเราเติบโตมาด้วยเหตุผล ด้วยการเรียนรู้การยอมรับ มีสติเท่าทันกับการกระทำของตัวเอง
เราจะใช้คำถามให้เขาได้ย้อนกลับไปมีสติในจังหวะที่เขาทำ เราให้เด็กคู่กรณีมาอยู่ใกล้ ๆ กัน เราต้องเป็นกลาง สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็ก เด็กก็จะเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นจริงมาคุยกัน แล้วแต่ละคนจะได้รับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน เด็กก็จะได้เรียนรู้ ความรู้สึกกับสิ่งที่เขาทำว่ารู้สึกอย่างไร และกำหนดบทลงโทษตัวเขาเอง ให้เด็กขอโทษซึ่งกันและกัน
“เพราะในทุก ๆ การกระทำ เราจะเป็นส่วนหนึ่งของสมการความผิดเสมอ” ทำให้ปัญหาความรุนแรงต่าง ๆ ลดลง
จากเดิมนักเรียนพกของมีคมมาโรงเรียน การลักขโมย ตอนนี้ไม่มีแล้ว เราเชื่อว่าการใช้ความรักและความเมตตามาขับเคลื่อนโรงเรียนของเรา ผลข้างเคียงเรื่องการใช้นโยบายความรักและความเมตตา ได้ส่งผลไปถึงนักการภารโรงในโรงเรียนด้วย เค้าเกิดความประทับใจในตัวของเรา จากเดิมเป็นคนที่ผ่านอะไรมามาก ช่วงท้ายของอาชีพท่าน(นักการภารโรง)ก็ตัดสินใจเลิกดื่มเหล้า เพื่อสุขภาพและตัวท่านเอง
ในกิจวัตรความดีทั้ง 7 ข้อ ถ้าพิจารณา ในกิจวัตรข้อที่ 7 ชั่วโมงสุขจริงหนอเหมือนเป็นจุดเริ่มต้น จุดเริ่มแรกที่ทำให้คนที่ไม่อยู่ในศีล 5 เข้ามาสัมผัส ในเบื้องปลายก่อน เข้ามาเรียนรู้ เข้ามาปรับทัศนคติ ความคิด เข้ามาใช้เครื่องมือ หลังจากนั้นก็ค่อยเข้ามาจนลึก จนถึงระดับสุดท้าย คือรากลึก คือศีล 5
จากการที่เราใกล้ชิดกับเด็ก รู้ปัญหาในชุมชน เด็กสบายใจที่จะเล่า เราเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็ก เด็กก็จะเล่าเรื่องครอบครัวของเขาให้เราฟัง บางเรื่องทำให้เรามีน้ำตาไปกับเขาด้วย เด็กบริสุทธิ์เขาไม่มีความลับกับเรา เรารับทราบปัญหาของเขา เราก็มาคิดว่าเราจะทำอย่างไร ให้เด็กไม่เติบโตไปตามทางของเขา
ดังนั้นสิ่งนี้จึงเป็นตัวจุดประกายให้เราเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนว่า การดื่มสุราเป็นเรื่องที่ไม่ดีสำหรับเด็ก ถ้าเราบอกว่าไม่ดีอย่างเดียว มันก็มองไม่เห็นภาพ จึงหยิบยกเรื่องที่ใกล้ตัวที่สุด คือความยากจน เพราะเห็นได้ง่ายมาก
เมื่อมีเงินก็เอาไปซื้อเหล้าเบียร์มาดื่ม ดังนั้นการที่เราจะมีเงินไปซื้อสิ่งที่จำเป็น บางสิ่งที่ทำให้ครอบครัวดีขึ้น มันก็หายไป จากการดื่มสุรา เราจึงทำกิจกรรมนี้ขึ้นในชั่วโมงสุขจริงหนอ ให้นักเรียนแบ่งกันเป็นกลุ่ม มอบหมายภารกิจ ให้เป็นการเก็บฝาเบียร์ ที่อยู่ตามบ้านของหนูบริเวณบ้านโดยรอบ กลุ่มไหนจะได้เท่าไร ใน 1 สัปดาห์ พอครบ 1 สัปดาห์เราก็มาสรุปกัน มานับฝากันในแต่ละกลุ่ม เด็กก็เกิดการเรียนรู้ไปด้วย
เราให้เด็กแยกประเภท เครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ และเราก็ใช้คำถามว่าเครื่องดื่มแต่ละยี่ห้อราคาเท่าไรเด็กสามารถบอกราคาได้ เราก็ถามต่อว่าทำไมเด็ก ๆ
รู้ราคาละ ที่จริงเด็ก ๆ ก็เป็นคนไปซื้อให้ผู้ปกครองนั่นเอง เราก็ถามต่อ แล้วเด็ก ๆ เคยดื่มเหล้าหรือเปล่า ปรากฏว่าเกือบ 100 % เคยดื่ม
นี่...เด็กประถมศึกษานะคะ!
เราก็ไม่ทราบว่าผู้ปกครองดื่มแล้วนึกสนุกให้เด็ก ๆ ดื่มด้วยรึเปล่า อาจจะด้วยความไม่รู้ เหมือนความสนุกในครอบครัว นี้มันก็ฝึกให้ลูกๆ ลองดื่มตั้งแต่ประถมศึกษาเลย
ต่อมาเราก็ให้เขาได้ฝึกคณิตศาสตร์ โดยใช้ของจริงนี้แหละฝึก เขาก็ได้คำนวณนับฝาเบียร์ คูณจำนวนเงิน แล้วเอามาบวกกันในแต่ละชนิด พอได้จำนวนเงินมา เราก็ให้เด็ก ๆ มาอภิปรายให้เพื่อนฟัง ว่าแต่ละกลุ่มได้เครื่องดื่มประเภทอะไรบ้าง คิดจำนวนเงินเป็นจำนวนทั้งหมดเท่าไร
ทุก ๆ ครั้งในแต่ละกลุ่มแสดงจำนวนตัวเงินที่เพื่อนๆ คิดได้ ก็ต่างตื่นเต้น ตกใจกับจำนวนเงินในแต่ละกลุ่ม สุดท้ายเราก็ให้ทุกกลุ่มมารวมจำนวนเงินกัน
เด็กร้องโอ้โฮกันทั้งหมด! เราก็ถามต่อว่าถ้าเปรียบเทียบให้เห็นถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ ถ้าเอาเงินจำนวนนี้ไปซื้อโทรศัพท์ จะเอารุ่นอะไรเด็กก็สามารถบอกได้ ถ้ามือถือเครื่องนี้ราคาเท่านี้ เอาเงิน 180,000++ กว่าบาทไปซื้อจะได้ทั้งหมดกี่เครื่อง เค้าก็คำนวณแล้วพอรู้จำนวนก็ตกใจ
เราก็เปรียบเทียบต่อ ถ้าไปสร้างบ้านทำให้บ้านสวยงาม ซื้ออิฐจะได้กี่ก้อน ทุก ๆ ครั้งที่เราเปรียบเทียบทำให้เด็กฉุกคิดตระหนักถึงได้ว่าการดื่มสุราทำให้สิ้นเปลือง ผู้ปกครองสิ้นเปลือง หมู่บ้านก็สิ้นเปลือง นอกการสิ้นเปลืองแล้วปัญหาที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สร้างปัญหาให้เราได้อีกมีอะไรบ้าง เช่น เป็นโรคมะเร็ง มีคนเสียสติเพราะดื่มสุราในหมู่บ้าน เป็นต้น
เราก็ชี้ให้เห็นว่าโทษมีอะไรบ้าง 1.สิ้นเปลือง 2 โรคภัยต่าง ๆ 3. ปัญหาในครอบครัว ที่เด็กได้เล่าปัญหาในครอบครัวให้เราฟังก็เกิดมาจากสุรา เด็ก ๆ ก็ได้ค้นพบด้วยตัวเองในหลายด้านหลายมุม แต่กิจกรรมนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น
การจะให้ประสบความสำเร็จในระยะยาวก็ต้องทำบ่อย ๆ ทำซ้ำ ๆ จนเป็นนิสัย นี่เป็นกิจกรรมที่เราได้ต่อยอดจากการที่เราได้รับคัดเลือกเป็นประธานครูดีไม่มีอบายมุขภาคอีสาน คัดเลือกเป็นตัวแทนครูของภาคอีสาน กล่าวคำปณิธาน ในปี 2562 เราได้เข้าค่ายอบรมให้รู้โทษภัยของสุรา ทำให้เรามีแรงบันดาลใจในการทำงานให้ต่อเนื่องมากขึ้น
การผิดศีลข้ออื่น ๆ ก็สำคัญไม่แพ้กัน ในเว็บไซต์โครงการโรงเรียนรักษาศีล 5 (www.sila5.com) มีการรวบรวมสื่อเรียบเรียงตามสมุดบันทึกความดี มันมีสื่อที่ทำให้เด็กเห็นว่าในแต่ละข้อมันมีข้อดีข้อเสียอย่างไร มีทั้งสื่อที่เป็นละคร การ์ตูน ที่เหมาะสมกับเด็ก ๆ ทำให้เด็กได้ฉุกคิด และประสบการณ์ที่เขาได้เผชิญมา การต่อยอดโครงการที่จะเป็นไอเดียพัฒนาต่อไปมันจะดีมาก ๆ
ถ้าเด็กเป็นคนที่จะขับเคลื่อนลงมือปฏิบัติด้วยตนเองในทุก ๆ ปัญหา ภารกิจของเด็ก ๆ จะต้องไปเก็บข้อมูลถึงปัญหาที่เกิดจากการผิดศีลในข้อต่าง ๆ ในชุมชน เช่น การทะเลาะกันในครอบครัว แต่ละปัญหาเราให้เด็กออกมาเล่ามาอภิปราย เมื่อเราสร้างพื้นที่ปลอดภัยเขาก็จะสบายใจที่จะเล่าให้เราฟัง เราก็ยิงคำถามว่าถ้าเราถือศีลข้อไหน ปัญหาเหล่านี้จะหมดไปหรือช่วยแก้ปัญหาได้
เราก็เปรียบเทียบต่อ ถ้าไปสร้างบ้านทำให้บ้านสวยงาม ซื้ออิฐจะได้กี่ก้อน ทุก ๆ ครั้งที่เราเปรียบเทียบทำให้เด็กฉุกคิดตระหนักถึงได้ว่าการดื่มสุราทำให้สิ้นเปลือง ผู้ปกครองสิ้นเปลือง หมู่บ้านสิ้นเปลือง
เราเอาปัญหาใกล้ตัวทำให้เด็กสนใจมากขึ้น ต่อไปเราจะให้เขาฝึกจับดีคนรอบข้างให้ไปหาครอบครัวที่เขาชื่นชมหรือข้อดีในหมู่บ้านที่เขารู้สึกชอบมาก เอามาวิเคราะห์กับศีล 5 ว่าเขามีศีล 5 ในข้อไหนบ้าง ทำให้เขาเป็นแบบนี้ นำทั้งข้อดีข้อเสียในหมู่บ้านมาวิเคราะห์ ทำให้เขาได้เห็นผลกระทบที่เกิดในชุมชน เกิดขึ้นกับบ้านเกิดของเขา ทำให้เขารู้และสามารถพัฒนาบ้านเกิดของเขาได้ เปลี่ยนแปลงชุมชนด้วยตัวของเขาเอง เริ่มจากตัวเขาครอบครัวเขาลงสู่ชุมชน
เพราะถ้าโรงเรียนเติบโตและปรับเปลี่ยนเพียงฝ่ายเดียว แต่ชุมชนยังมีสภาพแวดล้อมเดิม ๆ เด็กก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิม ถ้าเราได้ร่วมมือกับผู้นำชุมชน มีโครงการดี ๆ เพื่อให้ชุมชนเติบโตไปพร้อม ๆ กัน เด็กก็จะได้คุณภาพจากครอบครัว ชุมชน และโรงเรียนก็จะเกิดผลดีกับเด็กของเรา
เป้าหมายในการทำงานในอนาคต เราจะปลูกฝังสิ่งที่ดีงามทั้ง 7 กิจวัตรความดี จนเป็นกิจวัตรให้กับเด็ก ๆ เป็นอุปนิสัย ค่อย ๆ สร้างไป ทั้งครูและเด็ก เมื่อโรงเรียนมีศีลธรรมก็ตอบโจทย์การสร้างโรงเรียนที่มีคุณธรรม ที่เติบโตจากข้างในสู่ความงอกงามภายนอก การรักดี การชอบในการเรียนรู้ก็จะตามมา เราเชื่อว่าผลการเรียนทางวิชาการก็จะดีขึ้นไปด้วย เมื่อเขารักและปรารถนาดีกับตัวเขาเอง
ก็อยากเห็นโรงเรียนของเราเติบโตด้วยศีล 5 ด้วยคุณธรรมจริยธรรม เมื่อเราทำภายในโรงเรียนให้เกิดขึ้นจริง เราจะนำสิ่งที่เป็นตัวตนของเด็กก้าวเข้าไปในชุมชน ในหมู่บ้าน ค่อย ๆ เปลี่ยนคนในชุมชนด้วยตัวลูกหลานของเขาเอง ให้เขาได้รับแรงบันดาลใจจากเด็ก ๆ
เมื่อเด็ก ๆ ได้เปลี่ยนอุปนิสัย มุมมองก็เปลี่ยนไป เป็นจุดยืนที่มั่นคง มันจะเป็นแรงบันดาลใจที่ดีให้พ่อแม่ผู้ปกครองเหมือนมีแสงสว่างเกิดขึ้นในครอบครัว เปลี่ยนได้ แม้ 1 คนก็เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้ชุมชนมีอาชีพที่ดี การงานการเงินก็ดีมากขึ้น เราทำโครงการดี ๆ แล้วดึงคนในชุมชนร่วมพัฒนาได้
ในอนาคตก็อยากให้โรงเรียนเป็นแรงบันดาลใจให้ชุมชนอื่น ๆ ที่อยู่ในภาคเดียวกันหรือทั่วประเทศ ได้เห็นเป็นโมเดลที่ชัดเจน ว่าโรงเรียนที่ใช้ศีล 5 ในการขับเคลื่อนเป็นฐานในการเติบโต มันก็มีความเป็นไปได้ที่จะขับเคลื่อน และจะเปลี่ยนจากโรงเรียนที่มีข่าวว่าจะควบรวมยุบ ที่มีความอ่อนแอทางด้านทรัพยกรบุคคล และเงิน ให้เติบโตและงอกงาม เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า จริง ๆ แล้ว ผู้คนในชุมชน เป็นปัจจัยที่สำคัญในทุก ๆ การเปลี่ยนแปลง แม้มีคนที่จะทำงาน เพียง 1 คน หรือ 2 คน แต่คนเหล่านั้นมีความจริงใจที่จะทำสิ่งนั้น มันก็จะเปลี่ยนได้
จากความจริงใจที่เราลงมือทำจริงก็สร้างแรงบันดาลใจให้โรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศได้เห็นและเอาเราเป็นแบบอย่าง ให้เกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนา สามารถถอดบทเรียนของโรงเรียนบ้านหวายนำไปใช้ได้จริง
“อย่าได้กังวลใจกับกรอบหรือเกณฑ์ที่เขากำหนดเราอยู่ ให้ใช้ความเป็นมนุษย์กลับมาในสิ่งที่เราควรจะเติบโต ว่าอะไรที่จะเหมาะกับคนที่เรารัก
อย่าให้ปัจจัยที่อยู่ข้างนอกมาทำให้สิ่งที่อยู่ภายในของเราเปลี่ยนแปลงไป แล้วให้ขับเคลื่อนการกระทำของเราด้วยความจริงใจ ความรักและความเมตตาต่อตัวเราเองและตัวผู้อื่นอยู่เสมอ สุดท้ายผลจากการที่เราปลูก มันก็จะกลับมาสู่ตัวเราเองในที่สุด”
สิ่งที่สำคัญมันคือสารตั้งต้นจากตัวเราก่อน เมื่อเราเริ่มเปลี่ยนจากภายใน เราเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนภายใน การเรียนรู้ภายใน ทำให้การเรียนรู้ภายนอกของเราเปลี่ยนไปด้วย มันง่ายในการพัฒนา เราไม่สามารถปรับเปลี่ยนผู้อื่นได้ แต่เราต้องมาปรับเปลี่ยนข้างในเราก่อน ผอ. นำธรรมะ ที่เป็นธรรมชาติจับเอาสิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวมาเป็น การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง
จากกิจกรรมศีลธรรมบนฝาเบียร์ ทำให้การจัดกิจกรรมศีลธรรมเป็นเรื่องที่ไม่น่าเบื่อ สนุก จับต้องได้จริง ทั้งมีความสุขและสร้างแรงบันดาลใจ ผอ. ออยจะไม่มองเป้าหมายที่มันไกลเกินตัว มองปัจจุบันว่าเราสามารถทำอะไรได้ และทำให้ดีที่สุด และการที่เราทำสิ่งที่ดีที่สุดมันจะดึงดูดสิ่งที่ดี ๆ ตามมา
ต้องขอขอบคุณ ผอ.ออย ภาณุมาศ ธรรมถาวรสกุล โรงเรียนบ้านหวาย จังหวัดสกลนคร ที่มาแบ่งปัน ทั้งประวัติชีวิตการทำงาน กิจกรรมดี ๆในการพัฒนาเด็ก ๆ ผอ. ออยเลือกความรัก เลือกครอบครัว เลือกงาน ชีวิตของ ผอ. ออยอยู่ในการตัดสินใจ และการเลือกที่ถูกต้องบนฐานของคุณธรรม
สิ่งที่ ผอ.ออยได้ทำมาจากใจ จากการบ่มเพาะธรรมะตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ ของ ผอ. ทำให้ ผอ. มีความเข้มแข็งจากธรรมะภายใน สู่การพัฒนาภายนอก คือการปลูกฝังธรรมะมาตั้งแต่เด็ก ๆ นี้คือ สิ่งที่โครงการโรงเรียนรักษาศีล 5 เชิงคุณภาพ ครอบครัวอบอุ่น อยากให้ครูได้นำธรรมะ นำศีล 5 มาพัฒนาเด็กของเราเพื่อให้เด็กได้เติบโตเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีงามสู่สังคมของเราในอนาคต แล้วพบกันใหม่กับรายการ The Light Up Talk ในครั้งต่อไป สวัสดีครับ
ผู้ร่วมแบ่งปัน : ผอ.ออย - ภาณุมาส ธรรมถาวรสกุล โรงเรียนบ้านหวาย อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร