10 วิธีเรียนออนไลน์ที่บ้านอย่างไรให้มีสมาธิ

19 ธันวาคม 2564 15:51 น.


ด้วยท่าทีของวิกฤต Covid-19 ที่ดูจะไม่หายไปง่ายๆ ในตอนนี้ การเรียนด้วยระบบออนไลน์ หรือ จึงเป็นอีกตัวแปรสำคัญที่จะช่วยให้เด็กๆ เรียนและจบภาคการศึกษาได้ตามกำหนดกรอบเวลาเดิม ซึ่งการเรียนออนไลน์นี้ก็คล้ายๆ กับการ work from home ของมนุษย์ออฟฟิศ ที่ต้องใช้สมาธิและจัดแบ่งตารางให้กับตัวเองเมื่อต้องเรียนอยู่ในที่พักอาศัย จะทำอย่างไรให้เรายังสามารถมีสมาธิและเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพได้เหมือนกับอยู่ในห้องเรียน วันนี้เรามีเคล็ดลับดีๆมาฝาก มาเริ่มกันเลยค่ะ

1. ตั้ง To-do list ที่จะทำในแต่ละวัน


สิ่งที่ยากที่สุดเมื่อเราต้องเรียนด้วยตัวเองจากที่บ้านก็คือ การลุกออกมาจากเตียงและทำภารกิจในแต่ละวันให้สำเร็จลุล่วงเหมือนอยู่ในห้องเรียน ฉะนั้นลิสต์แรกๆ ที่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อการเรียนอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นการทำ ‘To-do
หรือรายการสิ่งที่ต้องทำในวันนั้น เป็นการกำหนดขอบเขตเป้าหมายที่จะช่วยให้ผู้เรียนจัดสรรปริมาณงานในแต่ละวันได้เหมาะสม
บทความจากมหาวิทยาลัยฟลอริดาให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า การกำหนดตารางสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันช่วยให้ผู้เรียนเห็นความเชื่อมโยงกันระหว่างเช็คลิสต์และความสำเร็จของตัวเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อเราบรรลุเป้าหมายในการทำลิสต์แต่ละข้อสำเร็จ ร่างกายจะหลั่ง ‘โดปามีน’ (Dopamine) หรือสารแห่งความสุขซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เรามีพลังงานในการทำเป้าหมายใหญ่ๆ ลำดับถัดไป ถ้าเรามีสิ่งที่ต้องทำเยอะมากแนะนำว่า ให้เริ่มจากงานที่เล็กและเรียบง่ายก่อน ตัวเราเองก็อาจจะรู้สึกประหลาดใจที่เห็นเป้าหมายค่อยๆ สำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันจับต้องได้โดยที่ไม่ได้รู้สึกเหนื่อยจนเกินไป การวางเป้าหมายเล็กๆ แต่ชัดเจนในแต่ละวันให้เริ่มจากการตั้งไว้ 3 ข้อก่อนก็ได้ กำหนดว่าเราจะทำทั้ง 3 สิ่งนี้ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลากี่ชั่วโมง จากนั้นเมื่อทำสำเร็จแล้วค่อยตั้งเป้าหมายอื่นๆ เพิ่มไปอีกทีละ 3 อย่าง ดูให้แน่ใจว่าเป้าหมายทั้ง 3 เหมาะสมกับความสามารถของเราในแต่ละวัน สิ่งนี้จะช่วยเราแยกลิสต์ใหญ่ๆ ที่ดูเยอะและหนักอึ้งออกมาเป็นเป้าหมายเล็กๆ แต่สม่ำเสมอได้
นอกจากการวางตารางกำหนดสิ่งที่ต้องทำในทุกๆ วันแล้ว การกำหนดเดดไลน์ของแต่ละสัดส่วนก็จะช่วยให้เราจัดการเวลาได้ดีขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น กำหนดเวลาสำหรับอ่านหนังสือไว้ 30 นาที เมื่อครบกำหนดแล้วให้เปลี่ยนไปทำการบ้านที่ยังค้างอยู่อีก 30 นาที แบบนี้จะช่วยให้จัดการสิ่งที่ต้องทำในทุกๆ วันได้ครบถ้วนมากกว่าการจมอยู่กับชิ้นงานเดียวตลอดทั้งวัน

2. จดบันทึกและย้อนกลับมาดูภายหลังเพื่อทบทวน


การเรียนด้วยระบบ ‘remote learning’ อาจทำให้หลายคนไม่ชินและเข้าใจไปว่า การเรียนทางไกลคงจะทำให้เรียนได้ไวกว่าหลักสูตรทั่วไปในห้องเรียน แต่จริงๆ แล้ววิธีการแบบนี้เป็นเพียงการย้ายแพลตฟอร์มจากห้องเรียนมาสู่คอมพิวเตอร์เท่านั้น
การเรียนแบบนี้มีข้อดีอยู่อย่างหนึ่งคือ เราสามารถเข้าไปดูเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งตรงนี้แหละที่อาจจะทำให้ผู้เรียนสูญเสียโฟกัสไปมากกว่าตอนเรียนในห้อง ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า แม้จะอยู่ที่บ้านและเรียนจากคอมพิวเตอร์ได้แต่การ ‘take note’ หรือจดบันทึกก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญและมีส่วนช่วยให้การเรียนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จากผลการวิจัยบอกว่า การใช้งานด้วยระบบแล็ปท็อปเพียงอย่างเดียวทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนลดลงราวๆ 40% ส่งผลให้ความจำของเด็กๆ ลดลง รวมถึงการจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็น้อยลงตามไปด้วย

3. เปลี่ยนบรรยากาศห้อง เพิ่มความ productive มากขึ้น


การเพิ่มหรือลดสีสันภายในห้องช่วยกระตุ้นไอเดียความคิดสร้างสรรค์ และเสริมสร้างพลังงานใหม่ๆ ให้เราลุกขึ้นมาเรียนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยนะ ยกตัวอย่างเช่น มีการพิสูจน์แล้วว่าสีส้มมีส่วนช่วยในการเพิ่มพลังงาน และทำให้สมองปลอดโปร่งคิดไอเดียใหม่ๆ ออกมาได้ดี ส่วนพื้นที่รอบข้างควรตกแต่งด้วยโทนสีเข้ม บวกกับหมอนหรือผ้าห่มสีส้มจะช่วยปรับสมดุลให้พื้นที่ภายในห้องไม่จัดจ้านหรือเทไปที่เฉดใดเฉดหนึ่งจนเกินไป เก็บของที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานออกไปจากบริเวณนั้นให้หมด และเปลี่ยนพื้นที่บนโต๊ะด้วยการจัดวางอุปกรณ์แบบสำนักงานแทน

4.ให้แอพพลิเคชั่นช่วยโฟกัส


การเรียนด้วยระบบอินเทอร์เน็ตอาจจะทำให้ผู้เรียนหลุดสมาธิได้ง่ายๆ ซึ่งตัวช่วยที่จะมาทำให้โฟกัสของเราดีขึ้นก็มีหลายแอพพลิเคชั่น เราจะลองยกตัวอย่างมาให้ดูคร่าวๆ สัก 3 แอพพลิเคชั่น

Coffitivity : แอพพลิเคชั่นจำลองบรรยากาศเสียงร้านกาแฟที่มีให้เลือกหลากสไตล์มากๆ มีทั้งเสียงร้านกาแฟตอนเช้าที่มีคนเดินเข้าบ่อยๆ หรือเสียงคนพูดคุยกันในร้านก็มีให้เลือกเหมือนกัน ทำไมต้องเป็นเสียงในร้านกาแฟนะ? ก็เพราะเคยมีงานวิจัยออกมาแล้วว่า เสียงในร้านกาแฟมีส่วนช่วยกระตุ้นให้การทำงานของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม

Brain.fm : เว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นบนมือถือที่มีซาวด์แทร็กให้เลือกยาวนานถึง 2 ชั่วโมง ดนตรีในแอพนี้ถูกออกแบบมาช่วยให้ผู้ฟังโฟกัส ผ่อนคลาย หรือเพื่อนอนหลับสบายก็ได้เหมือนกัน มีให้เลือกตั้งแต่เสียงระฆัง ดนตรี เสียงฝนตก และอื่นๆ อีกมากมาย

Cold Turkey Blocker : ใช้ได้ทั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์ macOS และ Windows แอพพลิเคชั่นนี้เหมาะสำหรับคนที่ชอบเผลอกดเข้าไปเล่นอินเทอเน็ตในช่วงเวลาทำงานหรือเรียนบ่อยๆ เพียงเราตั้งค่าเวลาที่ต้องการล็อคการเข้าถึงเว็บไซต์อื่นๆ ไว้
เจ้าตัวนี้ก็จะช่วยปิดและล็อคการเข้าถึงไว้ตามกำหนดเวลาที่ต้องการ ซึ่งแอพฯ นี้ยังเหมาะกับคนที่เสพติดการเข้าอินเทอเน็ตเป็นประจำมากๆ แล้วต้องการปรับพฤติกรรมตัวเองก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจ

5. กำหนดเวลาเบรกถี่ขึ้น แต่ช่วงเวลาสั้นลง


วิธีคิดคล้ายกับการตั้ง To-do list ในแต่ละวัน การพักเบรกก็เช่นกันเราไม่จำเป็นต้องกำหนดขอบเขตเวลาพักเบรกด้วยช่วงกว้างๆ เหมือนกับตอนอยู่ที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย แต่ให้กำหนดกรอบการพักเบรคเป็นประจำทุกวันด้วยช่วงเวลาที่ถี่ขึ้นแต่สั้นลง
ยกตัวอย่างเช่น หลังจากโฟกัสกับการเรียนไปแล้ว 30 นาที ให้เวลาตัวเองได้พักสายตาจากหน้าจอสัก 5 นาที ลุกขึ้นยืดเส้นยืดสาย ดื่มน้ำ หรือทำธุระส่วนตัว แล้วกลับมาเรียนต่ออีกครั้ง หรือในช่วงเวลาสั้นๆ 5 นาทีอาจจะแทรกเป็นกิจกรรมที่สนุกและมีประโยชน์ไปในตัวด้วย เช่น แก้ปัญหาคณิตศาสตร์ง่ายๆ 5 ข้อ การเบรกด้วยระยะเวลาสั้นๆ แบบนี้จะช่วยให้เราถอยกลับมาผ่อนคลาย และยังทำให้เรารีเฟรชเพื่อโฟกัสในการเรียนที่ดีขึ้นได้ด้วย

6. สร้างระบบให้รางวัลตัวเอง


นอกจากการทำยังไงให้ตัวเองโฟกัสแล้ว อีกส่วนที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือ จะทำยังไงให้เราสนใจการเรียนได้มากขึ้น วิธีการหนึ่งคือ กำหนดรางวัลตัวเองหลังจากบรรลุเป้าหมาย ถ้าวันนี้สามารถเรียนและทำการบ้านได้เสร็จ เราอาจให้รางวัลตัวเองด้วยการเล่นอินเทอร์เน็ต
หรือทำกิจกรรมที่ชอบในช่วงบ่าย กำหนดไว้ว่า ถ้าทำเสร็จแล้วเราจะได้รางวัลอะไรจากการตั้งใจเรียน สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้เราอยากทำเป้าหมายสำเร็จได้ไวๆ ที่สำคัญอย่าหยวนๆ และให้รางวัลจนกว่างานจะเสร็จ ต้องซื้อสัตย์กับตัวเราเองด้วยนะ

7. หาเครื่องมือช่วยจดบันทึกตามความถนัด


แต่ละคนมีเคล็ดลับในการช่วยจำไม่เหมือนกัน ฉะนั้นเมื่อได้เรียนอยู่ที่บ้านแล้วอาจจะลองหาเครื่องมือที่ช่วยให้ตัวเราเองจดจำบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น บางคนอาจจะถนัดจดโน้ตย่อในรูปแบบแผ่นพับ บางคนไม่ชอบนั่งอยู่กับที่ขณะเรียน บางคนจำเป็น mind mapping ได้ดีกว่า หรือบางคนชอบฟังเพลงขณะอ่านหนังสือไปด้วยจะมีสมาธิมากกว่าความเงียบ สิ่งนี้เราสามารถทำได้เมื่อเรียนในระบบ remote learning อาจจะเป็นโอกาสที่ได้เรียนในรูปแบบที่กำหนดได้ด้วยตัวเอง หรือถ้าใครไม่ชอบเสียงดังๆ แอพพลิเคชั่นตัวตัดเสียงหรือ ‘noise cancelling’ ก็มีให้ดาวน์โหลดใช้งานฟรีด้วยเหมือนกันนะ

8. หาช่วงเวลาที่เรียนได้ดีที่สุด


ช่วงเวลาที่มนุษย์มีความสามารถในการโฟกัสกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นค่อนข้างสั้น รวมถึงสิ่งรบกวนรอบข้างในอินเทอร์เน็ตก็มีมากมาย จะทำยังไงให้เราเรียนได้มีประสิทธิภาพสูงสุด ก่อนอื่นต้องกลับมาสำรวจตัวเองและทบทวนก่อนว่า ตัวเราโฟกัสในช่วงเวลาไหนได้ดีที่สุด บางคนมีสมาธิและทำงานได้ดีที่สุดในตอนเช้าตรู่ ในทางกลับกันสำหรับบางคนกลับเรียนได้ดีในตอนบ่าย และมากไปกว่านั้นก็อาจจะมีสมาธิที่สุดในตอนกลางคืนเลยก็ได้ เมื่อรู้เวลาที่ตัวเองทำงานได้ดีแล้ว พยายามกำหนดกรอบการเข้าเช็กข้อความหรือให้เวลาเล่นอินเทอร์เน็ตก่อนเข้าสู่ชั่วโมงการเรียนการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้โทรศัพท์มือถือที่แม้เราจะคิดว่า เข้าไปเช็กข้อความเพียง 2-3 นาที แต่หลายครั้งการเล่นโซเชียลมีเดียในโทรศัพท์ ก็ทำให้เราเสียโฟกัสไปพักใหญ่เลยก็มีเหมือนกัน ฉะนั้นพยายามไม่จับมือถือตอนเข้าสู่บทเรียนเลยจะดีกว่า

9. พักผ่อนและดูแลตัวเองตามนาฬิกาชีวิต


โฟกัสกับการเรียนแล้วสิ่งที่จะลืมไม่ได้เด็ดขาดเลยก็คือ การพักผ่อนและดูแลตัวเองให้มากๆ สำหรับบางคนการได้เรียนที่บ้านอาจจะน่ายินดีอยู่ไม่น้อย แต่กับบางคนแล้วกลับรู้สึกว่า การต้องเรียนและทำการบ้านที่บ้านกลายเป็นว่า พื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่การเรียนการทำงานมีความทับซ้อนกันอยู่ไม่น้อยเลย ฉะนั้นอย่าหักโหมมากจนเกินไป อย่าโฟกัสกับหน้าจอเกิน 2 ชั่วโมงเป็นอันขาด งานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นตรงกันว่า การออกกำลังกายสำคัญไม่แพ้กันกับการเรียนรู้ พักเบรกไปเดินเล่นหรือออกกำลังกาย เข้านอนตามเวลาปกติ และอย่าลืมหาอะไรมีประโยชน์ให้กับร่างกายตั้งแต่เช้าก่อนการเรียนเสมอ

10. เชื่อมั่นในตัวเองเข้าไว้


ถ้ารู้สึกเหนื่อยจนเกินไปให้หายใจเข้าลึกๆ ปลดปล่อยความทุกข์ที่แบกไว้ทั้งหมด ไม่ต้องคิดมากว่า เราจะทำได้ดีหรือเปล่า เชื่อมั่นในตัวเองเข้าไว้ หากไม่เข้าใจก็สามารถบอกกับผู้สอนหรือปรึกษาเพื่อนดีกว่าการมานั่งเครียดอยู่คนเดียว การเรียนที่บ้านอาจจะปรับตัวยากในช่วงแรกๆ แต่ถ้าจัดสรรเวลาให้ดี ทำตารางสิ่งที่ต้องทำได้เข้าที่เข้าทาง ทุกอย่างก็จะผ่านไปได้และไม่ได้ยากเกินกว่าที่เราจะทำได้แน่นอน

 

อ้างอิงข้อมูลจาก : fnu.edu,iacet.org,elearningindustry.com,blog.online.colostate.edu,zapier.com,
https://thematter.co/social/how-to-stay-focused-to-remote-learning/104753


AUTHOR

ผู้เรียบเรียง : จุฑามาศ ภิญโญศรี