นวัตกรรม 3 ก.

28 กุมภาพันธ์ 2565 13:59 น.


นวัตกรรม 3 ก. ความหวังใหม่สู่การเป็นโรงเรียนที่น่าอยู่

 Highlights

-นวัตกรรม 3 ก. เป็นเครื่องมือที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นแนวทางในการช่วยแก้ไขปัญหาให้กับนักเรียนของโรงเรียนบ้านแพ้ววิทยา(ตี่ตง) จังหวัดสมุทรสาคร

-โรงเรียนไม่ใช่แค่สถานที่ถ่ายทอดความรู้ แต่เปรียบเสมือนเป็นบ้านหลังที่สองของนักเรียน ที่เมื่อก้าวเข้ามาแล้วต้องสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นและความสุข จากบุคคลรอบข้าง ทั้งเพื่อน คุณครู และทุก ๆ คนในโรงเรียน จึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่า…จะทำอย่างไรให้โรงเรียนของเราน่าอยู่    

ครูสอนศิลปะ VS โครงการโรงเรียนรักษาศีล 5  

          ครูกิ่งแก้ว บุญเทียน ครูผู้สอนวิชาศิลปะ แห่งโรงเรียนบ้านแพ้ววิทยา(ตี่ตง) จังหวัดสมุทรสาครได้รับมอบหมายให้มาทำหน้าที่ผู้ประสานงานโครงการโรงเรียนรักษาศีล 5 เชิงคุณภาพ ครอบครัวอบอุ่น เนื่องด้วยใจที่ใฝ่ธรรมะ ชอบเข้าวัด เข้าธรรมสถานเป็นทุนเดิม ทำให้ครูกิ่งแก้วสามารถบูรณาการโครงการโรงเรียนรักษาศีล 5กับวิชาศิลปะได้ไม่ยาก ด้วยการนำข่าว หรือเรื่องราวต่าง ๆ มาพูดคุยกับเด็ก ๆ ก่อนเข้าสู่บทเรียนอย่างสม่ำเสมอ 

 
          ครูกิ่งแก้วเผยความรู้สึกที่มีต่อ 7 กิจวัตรความดี ว่า “เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจุดเริ่มต้นของการดำเนินชีวิตของเด็กหรือคนทั่ว ๆ ไปก็ต้องเริ่มจากการรักษาศีล 5 ให้เป็นปกติก่อนจึงจะนำไปสู่การคิดดี พูดดี และปฏิบัติดี”

…เป็นครูผู้ผสมผสานศิลปะกับศีลธรรมได้อย่างลงตัวจริง ๆ 

 Shining School Project สนามแห่งการฝึกฝน  

          Shining School Project เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้น จากความร่วมมือของโค้ช 4 ท่าน จากบริษัท Mind Tools จำกัด ร่วมกับ 1 CEO บริษัท โมบาย คอนเน็ค จำกัด และโครงการโรงเรียนรักษาศีล 5  เชิงคุณภาพฯที่ปรารถนาเป็นแรงผลักดันหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้ “โรงเรียน…น่าอยู่”ได้อย่างแท้จริง ด้วยการถ่ายทอดกระบวนการคิดและทำงานแบบ Innovation Design Thinking   

 
          เมื่อผู้อำนวยการโรงเรียนเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อนักเรียน  ครูกิ่งแก้วก็ไม่รอช้าตัดสินใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมนี้ทันที ทั้ง ๆ ที่รู้สึกหวั่นใจ ว่าเราจะทำได้หรือไม่ เพราะรู้ศักยภาพตัวเองดีว่า ไม่ได้ถนัดวิชาการ แต่ด้วยใจที่เห็นทางที่จะช่วยแก้ไขปัญหาให้นักเรียนได้ ก็เปิดหัวใจ สร้างกำลังใจให้กับตัวเองด้วยการ 'ลองทำดู และค่อย ๆ พัฒนาไป' 

          ตลอด 4 เดือนที่ครูกิ่งแก้วเข้าร่วมกิจกรรม วิทยากรทั้ง 5  ท่าน ทำให้ครูกิ่งแก้วได้เรียนรู้การสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาให้เด็กได้อย่างตรงจุด ด้วยกระบวนการคิดแบบ Design Thinking ส่งผลให้ Mindset  ของครูกิ่งแก้วค่อย ๆ เปลี่ยนไป ฝึกฝืนจนรู้สึกว่าตนเองมีกระบวนการคิดดีขึ้น วิธีการสอนก็ดีขึ้นได้พัฒนาตนเองไปพร้อม ๆ กัน  

ทำอย่างไร…ให้โรงเรียนของเราน่าอยู่  
          กระบวนการแรกที่ครูกิ่งแก้วเริ่มทำ คือ การค้นหาปัญหาที่ทำให้โรงเรียนไม่น่าอยู่ของนักเรียนคืออะไร
ครูกิ่งแก้วเล่าว่า “ช่วงนั้นเป็นช่วงเรียน Online จึงเลือกใช้ Google Form ในการค้นหาข้อมูลจากเด็กแต่พบว่าปัญหาที่ได้มานั้นไม่เจาะลึกมากเพียงพอ ตามคำแนะนำของคณะวิทยากร จึงหาข้อมูลเพิ่มเติมโดยการสัมภาษณ์เด็กรายบุคคลแบบเจาะลึก ทำให้ได้ข้อมูลที่ตกผลึกเป็นปัญหาของเด็กจริง ๆ” 

          เมื่อพบปัญหาที่แท้จริงแล้ว ขั้นตอนต่อไปเป็นการคิดค้นนวัตกรรมขึ้นมา ทดลองใช้ เพื่อจะได้รู้ว่านวัตกรรมที่สร้างขึ้นมานั้นตอบโจทย์หรือไม่ ครูกิ่งแก้วเล่าว่า “เดิมนวัตกรรมที่คิดไว้คือ PLC (Professional Learning Community) แต่ทีมวิทยากรทำให้เข้าใจว่า PLC เป็นเพียงกระบวนการทำงานเท่านั้น ไม่ใช่นวัตกรรมที่จะนำมาแก้ไขปัญหาเด็ก จึงได้เปลี่ยนวิธีการคิด ปรับจนได้นวัตกรรมที่ชื่อว่า 3 ก. ตามวิถีตี่ตง

นวัตกรรม 3 ก. 

ประกอบด้วย 

ก ที่หนึ่ง หมายถึง ใกล้ชิด ครูให้ความใกล้ชิดและเอาใจใส่ จะให้รู้ความสุข ความทุกข์ หรือปัญหาของนักเรียน 

ก ที่สอง หมายถึง กื้อหนุน ครูให้ความช่วยเหลือนักเรียน   

ก ที่สาม หมายถึง กำลังใจ ครูให้กำลังใจ เพื่อช่วยให้นักเรียนสามารถผ่านพ้นอุปสรรคที่ผ่านเข้ามาได้ 

           นวัตกรรม 3 ก. เริ่มดำเนินการในส่วนของ ก. ที่หนึ่ง คือ ใกล้ชิด ด้วยการออกแบบเป็นกิจกรรมให้นักเรียนเขียนความรู้สึกลงไปในสมุดที่ชื่อว่า “สารลับจากใจของหนู” ครูกิ่งแก้วเล่าว่า “เนื่องจากเป็นโรงเรียนเอกชนที่มีนักเรียนตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 เด็กส่วนใหญ่มีฐานะค่อนข้างดี แต่ที่เราพบปัญหาบ่อย ๆ คือ เขาขาดความรักและความเข้าใจ เพราะผู้ปกครองต้องทำงานไม่ค่อยมีเวลาให้ เมื่อเขามีปัญหา ก็ไม่กล้ามาปรึกษาครู หรือบางทีเขาอาจจะไม่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดให้ครูฟังได้สารลับจากใจจึงเป็นเสมือนพื้นที่ปลอดภัยของพวกเขา  โดยอยู่ในกระบวนการขั้นแรกของการ  DesignThinking ที่มีชื่อว่า การ Empathy (ความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น) ซึ่งมีประโยชน์ต่อการพัฒนาเด็กเพราะเราต้องเข้าใจเด็กก่อนเป็นอันดับแรก ‘เข้าใจเขา รับฟังเขา’ นี่คือสิ่งสำคัญ”

           ณ ขณะนี้กิจกรรม “สารลับจากใจของหนู” เริ่มนำร่องโดยคุณครูแกนนำที่ดูแลนักเรียนทั้งหมด3 ห้องก่อน เมื่อได้รู้ปัญหาแล้ว ก็จะนำไปสู่ก.เกื้อหนุน และก.ให้กำลังใจต่อไป แต่ทางโรงเรียนยังไม่ได้มีกิจกรรมในการจัดการที่ชัดเจน เนื่องด้วยต้องการให้คุณครูทั้งโรงเรียนเข้าใจ และเต็มใจนำนวัตกรรมไปใช้พร้อม ๆ กัน จึงมีการพัฒนา"คู่มือกิจกรรมสารลับจากใจของหนู" เพื่อช่วยให้คุณครูมีภาพผลสำเร็จที่ตรงกัน และสามารถนำไปใช้งานได้จริง 

      
          ครูกิ่งแก้วนับเป็นตัวอย่างของครูยอดนักสู้ เป็นต้นแบบของ ททท. ทำทันที ไม่ว่าจะเกิดปัญหาหรืออุปสรรคใด ๆ
ครูกิ่งแก้วก็จะลงมือแก้ไขทันที พัฒนาตัวเองจนทำให้นวัตกรรม 3 ก. ตามวิถีตี่ตง ได้รับรางวัลรองชนะเลิศจากแคมเปญ Shining School Project ในที่สุด 

          นวัตกรรม 3 ก. ยังคงดำเนินต่อไปด้วยความตั้งใจของคณะครู นำทีมโดยครูกิ่งแก้ว ที่มีความหวังว่านวัตกรรม 3 ก. จะถูกขับเคลื่อนด้วยคุณครูทั้งหมดในโรงเรียน เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างครูกับนักเรียน มีการแก้ไขปรับปรุงพัฒนา หมุนรอบไปเรื่อย ๆ จนพบจุดสำคัญที่ทำให้โรงเรียนน่าอยู่ได้อย่างแท้จริง